กินลิ้นจี่อย่างไรให้ปลอดภัย? เตือน 3 ข้อควรระวังก่อนรับประทาน พร้อมเคล็ดลับสุขภาพที่คุณอาจยังไม่รู้!
ลิ้นจี่เป็นผลไม้ฤดูร้อนที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ และมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย แต่การบริโภคลิ้นจี่อย่างไม่ระมัดระวังอาจก่อให้เกิดผลเสียได้เช่นกัน
เว็บไซต์ CommonHealth ระบุว่า ลิ้นจี่เป็นผลไม้ที่ให้สารอาหารสำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะวิตามินซี ซึ่งช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยให้ร่างกายต้านทานโรคต่าง ๆ ได้ดีขึ้น อีกทั้งยังมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดผลกระทบจากกระบวนการออกซิเดชัน
นอกจากนี้ ลิ้นจี่ยังมีแร่ธาตุโพแทสเซียม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุมความดันโลหิต ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ และช่วยรักษาสมดุลระบบประสาท รวมถึงลดโอกาสการเกิดนิ่วในไต
สำหรับระบบย่อยอาหาร ลิ้นจี่มีใยอาหารที่ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาท้องผูกหรือระบบลำไส้ทำงานไม่ปกติ อีกทั้งยังช่วยดับกระหายและให้ความสดชื่นในช่วงอากาศร้อนจัด
ด้านความงาม วิตามินซีในลิ้นจี่ยังช่วยกระตุ้นการผลิตคอลลาเจน ทำให้ผิวกระจ่างใส มีความยืดหยุ่น และลดเลือนจุดด่างดำ ขณะที่สารโอลิโกนอลในลิ้นจี่ยังมีฤทธิ์ต้านริ้วรอย ชะลอความแก่
อย่างไรก็ดี แม้ลิ้นจี่จะมีประโยชน์มาก แต่หากรับประทานไม่ถูกวิธี ก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ โดยมี 3 สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อกินลิ้นจี่ ดังนี้
-
ห้ามกินตอนท้องว่าง
การกินลิ้นจี่ในขณะท้องว่างอาจกระตุ้นให้ระดับอินซูลินในร่างกายพุ่งสูง ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างรวดเร็ว เกิดอาการอ่อนแรง มือเท้าเย็น เหงื่อออกผิดปกติ ควรกินลิ้นจี่หลังมื้ออาหาร หรือเมื่อร่างกายได้รับสารอาหารและน้ำเพียงพอ -
ไม่ควรกินมากเกินไป
ลิ้นจี่มีรสหวานและให้พลังงานสูง กินมากอาจทำให้ “ร้อนใน” หรือเกิดอาการน้ำตาลในเลือดสูงได้ แนะนำไม่ควรกินเกินวันละ 9 ผล และควรกินสลับกับผลไม้อื่น เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างสมดุล -
ห้ามกินลิ้นจี่ดิบหรือยังไม่สุก
ลิ้นจี่ที่ยังไม่สุกเต็มที่มักมีรสเปรี้ยวจัด และมีสาร hypoglycin A ซึ่งอาจรบกวนการผลิตกลูโคสในร่างกาย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำผิดปกติ เสี่ยงเกิดอาการเวียนศีรษะและหมดสติได้
ลิ้นจี่เป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งด้านภูมิคุ้มกัน ระบบย่อยอาหาร และการบำรุงผิวพรรณ แต่ควรกินในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ควรกินตอนท้องว่าง และหลีกเลี่ยงลิ้นจี่ที่ยังไม่สุก เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดโดยไม่เสี่ยงต่อสุขภาพ