การศึกษาของ Feinberg School of Medicine แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น (Northwestern University) รัฐอิลลินอยส์ ชี้ว่า การใช้ชีวิตในเมือง ที่มี “พื้นที่สีเขียว” หรือ “แหล่งน้ำ” อย่างจำกัด อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับ “โรคหัวใจ”
การวิจัยดังกล่าวที่ติดตามผู้เข้าร่วมเกือบ 3,000 คน ตั้งแต่ปี 1985 จนถึงปี 2011 รวมแล้วเป็นเวลาราว 25 ปี ได้ข้อสรุปว่า เมื่อผู้คนอยู่กลางแจ้ง มักจะทำให้พวกเขาเกิดการเคลื่อนไหวของร่างกายที่มากขึ้นและนั่นก็นำไปสู่สุขภาพหัวใจที่ดี
ดร. ลีฟาง โฮว ผู้เขียนงานวิจัย กล่าวว่า “ผู้เข้าร่วมการศึกษา เป็นกลุ่มที่เข้าถึง (พื้นที่สีเขียวและแหล่งน้ำ) ได้อย่างจำกัด โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในย่านเศรษฐกิจรายได้ต่ำ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดการสะสมแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจได้มากกว่า”
แคลเซียมหรือหินปูนที่สะสมมากขึ้นในผนังหลอดเลือดจะส่งผลทำให้หลอดเลือดตีบ ซึ่งนับเป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรคหัวใจ และหากกล้ามเนื้อหัวใจได้รับเลือดไม่เพียงพอ นั่นอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้
การศึกษาในระยะยาวนี้พบว่า ความสัมพันธ์นี้พบได้อย่างชัดเจนที่สุดในกลุ่มคนผิวสีที่อาศัยอยู่ในย่านรายได้ต่ำ
นอกจากนี้ จากการศึกษายังพบว่า การเข้าถึงแหล่งธรรมชาติจะส่งเสริมสุขภาพที่ดี โดยเฉพาะช่วยชะลอความเสื่อม ทำให้ร่างกายเกิดความชราช้าลง
ดร.โฮว เล่าว่า “สภาพแวดล้อมที่ดี จะมีออกซิเจนคุณภาพดีกว่า อากาศที่สะอาดกว่า และสิ่งที่สำคัญที่สุด (การใช้ชีวิตใกล้ชิดพื้นที่สีเขียว) จะส่งเสริมให้เรามีกิจกรรมทางสังคมร่วมกับผู้อื่น ทำให้ร่างกายเกิดการเคลื่อนไหว ทั้งหมดนี้ช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันของเราได้”
ไฮดี ชไรเบอร์-แพน นักบำบัดจากศูนย์ Center for Nature Informed Therapy รัฐแมรีแลนด์ บอกว่า “มีหลักฐานยืนยันมากมายที่สนับสนุนว่า เมื่อร่างกายมนุษย์เชื่อมโยงกับธรรมชาติ ระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic Nervous System - SNS) จะทำงานน้อยลง”
ระบบประสาทซิมพาเทติกเป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาทอัตโนมัติที่ช่วยควบคุมการทำงานของร่างกาย เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ เมื่อการทำงานของระบบ SNS น้อยลง ความดันโลหิตก็จะลดลงด้วย โดยนักบำบัดหญิงผู้นี้ชี้ว่า ร่างกายของเราจะตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่สงบ อันประกอบด้วยเสียงนกร้อง เสียงน้ำ และต้นไม้ ได้เป็นอย่างดี
ชไรเบอร์-แพน มองว่า “พื้นที่กลางแจ้ง” คือที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของมนุษย์ เรามักจะเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้นเวลาอยู่นอกอาคาร เมื่อเราขยับเคลื่อนไหว ก็จะส่งผลเชิงบวกต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดต่าง ๆ ในร่างกาย
ท้ายสุด ดร.โฮว จากมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น หวังว่า การวิเคราะห์หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและนักวางผังเมืองเพื่อใช้อ้างอิงในการปรับปรุงเพิ่มพื้นที่ธรรมชาติ ทั้งต้นไม้และแหล่งน้ำให้ผู้คนเข้าถึงได้มากขึ้น โดยเฉพาะในย่านที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย
- ที่มา: วีโอเอ
กระดานความเห็น