วิจารณ์ไทยส่งตัว 6 นักเคลื่อนไหวกลับกัมพูชา เข้าข่าย "การปราบปรามข้ามชาติ"

2 weeks ago 9
❤️ ARTICLE AD BOX ❤️

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวกับวีโอเอว่า การที่ทางการไทยส่งตัวนักเคลื่อนไหวชาวกัมพูชาหกคนที่โดนกล่าวหาในข้อหาก่อกบฏทรยศชาติจากการวิจารณ์รัฐบาลบนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก กลับไปกัมพูชาเพื่อขึ้นศาลเมื่อเดือนที่แล้วนั้น ชี้ให้เห็นว่าไทยยังคงมีส่วนในการ "ปราบปรามข้ามชาติ" ซึ่งหมายถึงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลที่มุ่งเป้าไปยังผู้เห็นต่างที่อยู่นอกประเทศ

ผู้ถูกส่งตัวกลับครั้งนี้เป็นหญิงสี่คน เป็นชายสองคน และทุกคนมีความเกี่ยวข้องกับพรรคสงเคราะห์ชาติกัมพูชา พรรคฝ่ายค้านที่มีชื่อเสียงในประเทศที่โดนปราบปรามด้วยการยุบพรรคเมื่อปี 2017 การดำเนินคดี และการจับกุมคุมขังสมาชิกพรรคจำนวนมาก

เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของไทย ให้ข้อมูลโดยไม่เปิดเผยตัวตนว่า ผู้ลี้ภัยทั้งหกคน บวกกับอีกหนึ่งที่เป็นเด็กอายุ 5 ขวบ ถูกคุมตัวที่ จ.ปทุมธานี เมื่อปลายเดือน พ.ย. ก่อนถูกส่งตัวกลับกัมพูชา ตามการรายงานของเรดิโอ ฟรี เอเชีย ที่อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงาน USAGM เช่นเดียวกับวีโอเอ

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า กลุ่มนักเคลื่อนไหวนี้ถูกศาลแขวงกรุงพนมเปญดำเนินคดีเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาในข้อหาทรยศชาติ สืบเนื่องจากการโพสต์ข้อความวิจารณ์รัฐบาลกัมพูชากรณีโครงการสามเหลี่ยมความร่วมมือกัมพูชา-ลาว-เวียดนาม (CLV-DTA)

โครงการดังกล่าวเป็นข้อตกลงในแผนพัฒนา และร่วมมือกันทางการค้าและการเดินทางย้ายถิ่นในพื้นที่สี่จังหวัดทางตะวันออกเฉียงเหนือและพื้นที่ชายแดนของกัมพูชาที่ติดกับลาวและเวียดนาม ซึ่งลงนามในปี 1999 และริเริ่มอย่างเป็นทางการในปี 2004

สามเหลี่ยมความร่วมมือนี้ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นการมอบผลประโยชน์ให้กับต่างชาติ โดยเฉพาะการมอบสัมปทานที่ดิน ที่ถูกมองว่าเป็นการเสียที่ดินและอำนาจอธิปไตยให้กับเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีความบาดหมางในทางประวัติศาสตร์

กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยขแมร์ หรือ Khmer Movement for Democracy ที่ก่อตั้งโดยแกนนำฝ่ายค้านที่ลี้ภัยอยู่ต่างแดน วิจารณ์ว่าการส่งตัวกลับ จะทำให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหกเผชิญกับ “การปฏิบัติที่ไร้ความเป็นมนุษย์และต่ำทราม” ในทัณฑสถานกัมพูชาที่แออัด

เรดิโอ ฟรี เอเชีย รายงานว่า ทั้งหกคนถูกควบคุมตัวไว้แยกกันก่อนการพิจารณาคดีในกรุงพนมเปญ ซึ่งหากถูกตัดสินว่ามีความผิด พวกเขาอาจต้องโทษจำคุกเป็นเวลานานหลายปี

เสียงวิจารณ์ "การปราบปรามข้ามชาติ"

"เนื่องจากความสัมพันธ์อันดีระหว่างครอบครัวฮุน กับครอบครัวชินวัตร ที่อยู่เหนือพันธะผูกพันใด ๆ ก็ตามที่ไทยควรต้องยึดถือไว้ภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ"
ฟิล โรเบิร์ตสัน ผอ.ขององค์กร Asia Human Rights Labor Advocates

เตีย ชุง โฆษกของสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR (U.N. High Commissioner for Refugees) ระบุทางอีเมลถึงวีโอเอ "แสดงความกังวลอย่างยิ่ง" ต่อการส่งตัวนักเคลื่อนไหวทั้งหกคนกลับประเทศ ซึ่งขัดกับพันธะผูกพันของไทยที่รับประกันว่าจะไม่มีการส่งตัวผู้ใดกลับประเทศหากว่าพวกเขาเผชิญความเสี่ยงต่อชีวิตหรือเสรีภาพของพวกเขา

โฆษก UNHCR กล่าวว่า "เราต้องการคำอธิบายอย่างเร่งด่วนจากทางการไทยเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และขอให้เคารพในกฎหมายของไทยและพันธะผูกพันระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีก"

ทั้งนี้ กรณีการปราบปรามข้ามชาติในลักษณะนี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ นักเคลื่อนไหวชาวกัมพูชาสามคนที่ UNHCR ระบุว่าเป็นผู้ที่อาจตกอยู่ในความเสี่ยง ถูกทางการไทยจับกุมพร้อมครอบครัวของพวกเขาสืบเนื่องจากการวางแผนประท้วงระหว่างที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน มาเนต เยือนประเทศไทย

องค์กรสิทธมนุษยชน Freedom House ระบุเมื่อปี 2022 ว่า ตั้งแต่ปี 2014 มีพลเมืองต่างชาติในไทยกว่า 150 คนที่กลายเป็นเหยื่อของการปราบปรามข้ามชาติลักษณะนี้

ฟิล โรเบิร์ตสัน ผอ.ขององค์กร Asia Human Rights Labor Advocates กล่าวว่า ไทยไม่ใช่สถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชา "เนื่องจากความสัมพันธ์อันดีระหว่างครอบครัวฮุน กับครอบครัวชินวัตร ที่อยู่เหนือพันธะผูกพันใด ๆ ก็ตามที่ไทยควรต้องยึดถือไว้ภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ"

โดยความสัมพันธ์ส่วนตัวดังกล่าวสานต่อมาจากรุ่นพ่อ คือ อดีตนายกรัฐมนตรีฮุน เซน และทักษิณ ชินวัตร จนมาถึงรุ่นลูก คือ ฮุน มาเนต และแพทองธาร ชินวัตร​

ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับวีโอเอว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองครอบครัวอาจเป็นกุญแจสำคัญในกรณีการส่งตัวชาวกัมพูชากลับประเทศครั้งนี้

"ความสัมพันธ์ส่วนตัวอันใกล้ชิดของสองครอบครัวสร้างความกังขาต่อการส่งตัวนักเคลื่อนไหวชาวกัมพูชากลับประเทศ เป็นเรื่องยากที่จะไม่คิดว่าความเชื่อมโยงนี้ช่วยให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้น ซึ่งการส่งตัวนี้ถือเป็นการตัดสินใจที่ไม่ดีเลยสำหรับแพทองธารและรัฐบาลไทยที่อ้างความชอบธรรมทางประชาธิปไตย แม้ว่าเป็นฝ่ายพ่ายแพ้การเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2023" ศ.ดร.ฐิตินันท์ กล่าวกับวีโอเอ

ทางด้าน เปรม ซิงห์ กิลล์ นักวิชาการรับเชิญที่ Universitas Muhammadiyah Yogyakarta ในอินโดนีเซีย กล่าวกับวีโอเอว่า รัฐบาลไทยและกัมพูชามีผลประโยชน์ร่วมกันในเรื่องการควบคุมผู้เห็นต่าง ทั้งสองประเทศล้วนมีสถาบันและกลุ่มการเมืองที่คล้ายกันในการรักษาฐานอำนาจเอาไว้ และได้ร่วมกันสร้างกลไกที่ครอบคลุมเพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวของบรรดาผู้เห็นต่าง

และว่า "การปราบปรามข้ามชาติกลายมาเป็นเครื่องมือที่ซับซ้อนของบรรดาผู้มีอำนาจในภูมิภาคนี้ ที่ซึ่งนักเคลื่อนไหวถูกจำกัดอยู่ในเครือข่ายของการคุกคามทั้งทางกฎหมายและนอกกฎหมาย ขณะที่รัฐบาลใช้ความร่วมมือผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการ แบ่งปันข้อมูลข่าวสาร ร่วมมือกันส่งตัวข้ามชายแดน และสร้างสิ่งแวดล้อมที่เปราะบางต่อผู้เห็นต่างทางการเมือง"

ก่อนหน้านี้ ไทยได้รับเลือกให้นั่งในสภาสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ซึ่งจะเริ่มทำหน้าที่อย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม ปีหน้า

วีโอเอพยายามติดต่อไปยังกระทรวงการต่างประเทศของไทยเพื่อขอความเห็นในเรื่องนี้ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ

  • ที่มา: เอพี, วีโอเอ และ เรดิโอ ฟรี เอเชีย
Read Entire Article