วิเคราะห์: ข้อเสนอกาซ่าของ ‘ทรัมป์’ กับสารพัดอุปสรรคที่รออยู่

1 month ago 30
❤️ ARTICLE AD BOX ❤️

ข้อเสนอของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการให้ชาวปาเลสไตน์ผู้พลัดถิ่นจากสงคราม ย้ายออกไปจากฉนวนกาซ่า และให้สหรัฐฯ เข้าไปพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวนั้น จะต้องเผชิญกับอุปสรรคสำคัญมากมายที่รออยู่ข้างหน้า

ชาวปาเลสไตน์และชาติอื่น ๆ มองแผนการดังกล่าวของทรัมป์ว่าเป็นการกวาดล้างทางชาติพันธุ์ ในความพยายามที่จะขับชาวปาเลสไตน์ออกจากบ้านของพวกเขา หลังจากสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสดำเนินมาถึง 15 เดือน ได้สร้างความเสียหายให้กับฉนวนกาซ่าจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีกต่อไป ข้อเสนอของทรัมป์ ยังถูกมองว่าเป็นความพยายามยุติการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นรัฐของปาเลสไตน์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากนานาประเทศอีกด้วย

ชาติอาหรับ รวมทั้งอียิปต์และจอร์แดน ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และเป็นมิตรกับอิสราเอล ได้ประณามแผนการที่ว่านี้และปฏิเสธคำแนะนำของทรัมป์ที่ให้รับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์เข้าไปในประเทศ ด้านซาอุดีอาระเบียออกแถลงการณ์ในช่วงข้ามคืนวันพุธ ปฏิเสธแนวคิดการส่งตัวชาวปาเลสไตน์ไปยังประเทศอื่น ๆ ในตะวันออกกลางและยังยืนกรานที่จะไม่ปรับปรุงความสัมพันธ์กับอิสราเอล หากปราศจากการก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ที่มีดินแดนฉนวนกาซ่าอยู่ในนั้นด้วย

ข้อเสนอของทรัมป์ในค่ำวันอังคาร ยังเป็นความเสี่ยงในการทำลายข้อตกลงหยุดยิงกาซ่า และการเดินหน้าปล่อยตัวประกันที่ฮามาสจับกุมไปเมื่อ 7 ต.ค. 2023 ซึ่งเป็นการโจมตีที่จุดชนวนสงครามกาซ่า ที่ทรัมป์อ้างว่าเป็นผู้ผลักดันข้อตกลงนี้อีกด้วย และ

สำนักข่าวเอพี รวบรวมอุปสรรคและความท้าทายต่าง ๆ ต่อข้อเสนอใหม่ของทรัมป์ในกาซ่า

ชาวปาเลสไตน์ยืนยันปักหลักในกาซ่า

ชาวปาเลสไตน์มองฉนวนกาซ่าว่าเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเกิดและปรารถนาที่จะมีรัฐอิสระในกาซ่า เวสต์แบงก์ และทางตะวันออกของเยรูซาเลม ดินแดนที่อิสราเอลเข้ายึดครองในช่วงสงครามตะวันออกกลางเมื่อปี 1967

ประชาชนปาเลสไตน์เป็นลูกหลานของผู้ลี้ภัยจากสงครามเมื่อปี 1948 ซึ่งอยู่ในช่วงการถือกำเนิดของประเทศอิสราเอล ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากอพยพหรือถูกขับออกจากดินแดนที่เป็นของอิสราเอลในปัจจุบัน พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้กลับเข้าไปในดินแดนที่จากมา เพราะพวกเขามีประชากรมากกว่าประชากรชาวยิวในประเทศเกิดใหม่ ณ เวลานั้น

ริยาด มานซัวร์ ทูตปาเลสไตน์ประจำสหประชาชาติ แนะว่าหากเป้าหมายของทรัมป์ คือการส่งชาวปาเลสไตน์ไปยัง “สถานที่ที่ดีและทำให้มีความสุข” พวกเขาควรได้กลับไปยังบ้านเกิดของบรรพบุรุษในอิสราเอล

แนวคิดของการยืนหยัดอยู่บนดินแดนของตนเป็นหนึ่งในส่วนประกอบของความเป็นอัตลักษณ์ของชาวปาเลสไตน์แม้ว่าจะเผชิญกับการคุกคามให้ย้ายถิ่นฐานมาหลายต่อหลายครั้ง เนื่องจากความกังวลว่าหากได้ย้ายออกจากถิ่นฐานของตนแล้วจะไม่มีโอกาสได้กลับมาอีก และสิ่งนี้เห็นได้ชัดเจนเมื่อสัปดาห์ก่อนที่ชาวปาเลสไตน์มุ่งหน้ากลับตอนเหนือของฉนวนกาซ่าที่เสียหายเกือบทั้งหมด

ทั้งกลุ่มฮามาสและหน่วยงานบริหารราชการ Palestinian Authority ที่นำโดยประธานาธิบดีมาห์มุด อับบาส ได้ออกมาประณามข้อเสนอดังกล่าวของทรัมป์เช่นกัน

ชาติอาหรับไม่รับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์

อียิปต์และจอร์แดน ซึ่งสร้างสันติกับอิสราเอลมาหลายทศวรรษ ได้ออกมาปฏิเสธข้อเสนอให้ย้ายถิ่นฐานชาวปาเลสไตน์มาภายในพื้นที่ชายแดนของตน เพราะทั้งสองชาติกังวลเช่นกันว่าอิสราเอลจะไม่ยอมให้ชาวปาเลสไตน์กลับคืนถิ่นฐานได้อีกต่อไป และกังวลว่าคลื่นผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์จะทำให้เกิดความสั่นคลอนในภูมิภาคตะวันออกกลางอีกครั้งหนึ่ง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นหลังการก่อตั้งอิสราเอลเมื่อปี 1948 เนื่องจากผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์เป็นปัจจัยสำคัญในสงครามกลางเมืองเลบานอน และอิสราเอลบุกเลบานอนไปถึง 2 ครั้ง

นอกจากนี้ อียิปต์และจอร์แดนกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจที่จะเป็นการยากในการรองรับผู้อพยพจำนวนมหาศาลเข้ามาไว้ในการดูแลอีก

ด้านทรัมป์ แนะว่า ประเทศร่ำรวยในตะวันออกกลางควรเป็นฝ่ายจ่ายค่าย้ายถิ่นฐานของชาวปาเลสไตน์ แต่นั่นเป็นสิ่งที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้

ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกาตาร์ ออกมาปฏิเสธแผนการย้ายถิ่นของชาวปาเลสไตน์ โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบียที่ปัดตกแผนดังกล่าวแทบทันที เพราะในแถลงการณ์เมื่อเดือนกันยายนปีก่อนจากมกุฏราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ระบุว่า ซาอุดีอาระเบียจะไม่ปรับปรุงความสัมพันธ์กับอิสราเอลหากปราศจากการก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ ที่มีเยรูซาเลมตะวันออกเป็นเมืองหลวง และย้ำใน “จุดยืนที่ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่สามารถต่อรองได้ และไม่มีการประนีประนอม”

ไพ่ที่ทรัมป์และผู้นำตะวันออกกลางถืออยู่

ทรัมป์ดูเหมือนจะใช้มาตรการด้านภาษี การลงโทษทางเศรษฐกิจ และการตัดความช่วยเหลือ เป็นแรงกดดันพันธมิตรและคู่ศัตรู และพร้อมจะใช้แรงกดดันทางเศรษฐกิจกับประเทศอย่างอียิปต์และจอร์แดน ที่พึ่งพาความช่วยเหลือของสหรัฐฯ มานาน

แต่ประเทศเหล่านี้มีข้อต่อรองของตนในการเผชิญหน้ากับสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นภัยคุกคามใหญ่ต่อความมั่นคงของประเทศ และประเทศร่ำรวยในตะวันออกกลาง ซึ่งเคยช่วยเหลืออียิปต์และจอร์แดนมาก่อน ก็อาจช่วยรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้เช่นกัน

อียิปต์ได้เตือนแล้วว่าหากมีการส่งชาวปาเลสไตน์จำนวนมหาศาลเข้ามายังคาบสมุทรไซนายซึ่งติดกับชายแดนกาซ่า จะถือเป็นการทำลายสนธิสัญญาสันติภาพกับอิสราเอล อันเป็นรากฐานสำคัญของเสถียรภาพในภูมิภาคและสะท้อนถึงอิทธิพลของอเมริกาในตะวันออกกลางมาเกือบ 50 ปี

อียิปต์และกาตาร์ยังเป็นตัวกลางเจรจากับฮามาสที่นำไปสู่การบรรลุข้อตกลงหยุดยิง และทั้งสองชาติได้ทำงานกับสตีฟ วิทคอฟฟ์ ทูตด้านกิจการตะวันออกกลางของทรัมป์ ในการเดินหน้าข้อตกลงเฟสต่อไป

อิสราเอลยินดีกับแผนทรัมป์ แต่ยังให้น้ำหนักกับการส่งคืนตัวประกัน

แนวทางการส่งชาวปาเลสไตน์ออกจากกาซ่าเป็นแนวคิดที่จำกัดอยู่ในกลุ่มขวาจัดอิสราเอล แต่เมื่อวันพุธ ผู้นำกระแสหลักต่างระบุว่าแผนการของทรัมป์เป็นสิ่งที่น่านำมาพิจารณา

นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล กล่าวระหว่างการแถลงข่าวกับทรัมป์ ยอมรับว่าประหลาดใจกับข้อเสนอของผู้นำสหรัฐฯ แต่ก็มองว่าเป็นความคิดที่นอกกรอบ

เบนนี แกนต์ นักการเมืองสายกลางและอดีตนายพลที่ถูกจับตาว่าเป็นทางเลือกอีกคนนอกจากเนทันยาฮู กล่าวว่าข้อเสนอของทรัมป์แสดงให้เห็นถึง “ความคิดสร้างสรรค์ มีความริเริ่ม และน่าสนใจ” และควรนำไปพิจารณานอกเหนือจากเป้าหมายของอิสราเอล ที่ตอนนี้ “ให้ความสำคัญกับการนำตัวประกันทั้งหมดกลับบ้าน”

ส่วนยาอีร์ ลาปิด ผู้นำฝ่ายค้านอิสราเอล ซึ่งเป็นผู้วิจารณ์เนทันยาฮูและเป็นผู้สนับสนุนแนวทางสองรัฐ ไม่ได้ปฏิเสธแนวทางดังกล่าว และเปิดเผยในการสัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นว่ายังเร็วเกินไปที่จะแสดงท่าทีต่อข้อเสนอของทรัมป์ เพราะยังไม่มีรายละเอียดใด ๆ ที่ชัดเจนออกมา และการนำตัวประกันทั้งหมดกลับบ้านยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ตัวเปิดการต่อรองในอนาคต?

มีความเป็นไปได้อีกอย่างหนึ่ง ที่ว่า ข้อเสนอของทรัมป์เป็นการเปิดเกมให้เริ่มการเจรจาต่อรอง ที่มุ่งเป้าบรรลุข้อตกลงใหญ่ในตะวันออกกลางในท้ายที่สุดของผู้นำสหรัฐฯ

ถ้ามองถึงภูมิภาคอื่น ๆ ทรัมป์ได้ขู่ขึ้นภาษีนำเข้ากับแคนาดาและเม็กซิโก 2 คู่ค้าใหญ่ของสหรัฐฯ ก่อนจะพักการขึ้นภาษีไปหลังจากผู้นำของสองประเทศให้คำมั่นจะจัดการประเด็นความมั่นคงบริเวณชายแดนและการปราบปรามยาเสพติด

ในวาระการดำรงตำแหน่งสมัยแรก ทรัมป์ผุดแนวคิดความเป็นไปได้ที่อิสราเอลจะผนวกพื้นที่เวสต์แบงก์ ก่อนจะพับแผนไปในการทำข้อตกลงปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

เช่นเดียวกันกับเรื่องนี้ เพราะในที่สุดทรัมป์อาจล้มเลิกหรือระงับการเดินหน้าตามข้อเสนอของเขา โดยมีข้อแลกเปลี่ยนกับผู้นำชาติอาหรับ ซึ่งอาจเป็นการฟื้นฟูกาซ่าหรือการปรับปรุงความสัมพันธ์ของชาติอาหรับกับอิสราเอล แม้ว่าซาอุดีอาระเบียจะออกแถลงการณ์คว่ำโอกาสนั้นไปแล้วก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ จะเริ่มได้เห็นความชัดเจนมากขึ้น หลังจากทรัมป์พบหารือกับกษัตริย์จอร์แดน ที่ทำเนียบขาวในสัปดาห์หน้า

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

Please enable JavaScript to view the comments powered by Disqus.
Read Entire Article