วิเคราะห์: ศก.'อาเซียน' อาจไม่ได้ประโยชน์นักจากเเรงกระเพื่อมภาษีสหรัฐฯต่อจีน

3 weeks ago 17
❤️ ARTICLE AD BOX ❤️

ท่ามกลางการคาดเดาถึงผลกระทบจากคำประกาศขึ้นภาษีของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ต่อคู่ค้าขนาดใหญ่อย่างจีน นักวิเคราะห์มองถึงความเป็นไปได้ถึงการที่บริษัทต่างๆ มองหาหนทางย้ายฐานผลิตออกจากจีนสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระลอกใหม่

เมื่อวันจันทร์ ทรัมป์ประกาศความพร้อมที่จะเร่งเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโก จีนและแคนาดา ซึ่งเป็น 3 คู่ค้าอันดับต้น ๆ ของประเทศ

ในช่วงการหาเสียงเป็นประธานาธิบดีในปีนี้ ทรัมป์ขู่ว่าจะยกระดับภาษีต่อสินค้าจากจีนให้สูงเป็น 60%

ตั้งเเต่เขาชนะเลือกตั้งเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พุ่งความสนใจไปที่สงครามการค้าที่อาจร้อนขึ้นอีกระหว่างสหรัฐฯและจีน

นักวิเคราะห์มองย้อนไปถึงเมื่อปี 2017 ที่ทรัมป์ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ สมัยเเรก เมื่อเขาใช้มาตรการภาษีต่อสินค้าเเดนมังกรอย่างเเข็งขัน

ในตอนนั้นบริษัทจำนวนมากย้ายฐานผลิตจากจีนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเลี่ยงการถูกเก็บภาษีระดับสูง หากว่านำสินค้าที่ผลิตจากโรงงานในจีนไปขายโดยตรงที่ตลาดสหรัฐฯ

หากว่า ภายใต้รัฐบาลทรัมป์ 2.0 จีนถูกเก็บภาษี 60% ตามที่เขากล่าว "การเร่งเครื่องย้ายฐานการผลิตจะมีมากขึ้น" ตามความเห็นของ เจเยนต์ เมนอน นักวิจัยอาวุโสแห่งสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak Institute

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอไทยว่า ประเทศไทยอาจได้รับผลดีมากกว่าผลเสีย จากนโยบายการใช้กำแพงภาษีที่อาจเกิดขึ้นของรัฐบาลสหรัฐฯ

เขากล่าวว่าไทยสามารถเป็น "ตัวกลางในการเชื่อมต่อระหว่างสหรัฐฯกับจีน คือถึงแม้เขาใหญ่ทั้งคู่ แต่เค้าตัดกันไม่ขาดหรอกครับ สหรัฐฯกับจีนยังไงเขาก็ต้องค้าขายกัน ทำยังอย่างที่ประเทศไทยจะไปอยู่ตรงกลางเป็นตัวเชื่อมของการค้าขายระหว่างสหรัฐฯ กับจีนให้ได้ คือจีนอยากขายของไปสหรัฐฯ ก็มาลงทุนที่ไทย สหรัฐฯ อยากขายของไปจีนก็มาลงทุนไทย"

Thailand's Minister of Commerce Pichai Nariptapun in Los Angeles, CA.
Thailand's Minister of Commerce Pichai Nariptapun in Los Angeles, CA.

อย่างไรก็ตาม เมนอน นักวิจัยจาก สถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศอย่างไทย เวียดนามและมาเลเซีย ได้เห็นการย้ายฐานการผลิตของบริษัทส่วนใหญ่จากจีมมายังตลาดของตนเรียบร้อยเเล้ว จึงเหลือโอกาสอย่างจำกัด หากเทียบกับประเทศอย่างกัมพูชาและลาวที่อยู่ใกล้จีน ที่น่าจะดึงเงินทุนจากจีนได้อีก

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอของไทย เปิดเผยว่า สถิติการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากจีนในประเทศไทยเมื่อปีที่เเล้ว มีจำนวนทั้งสิ้น 430 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 30.85 ของจำนวนโครงการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดที่ยื่นขอรับการส่งเสริม และมีมูลค่าการลงทุนรวม 159,387 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.03 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งหมดที่ยื่นขอรับการส่งเสริม

ทั้งนี้มูลค่าการยื่นขอการส่งเสริมการลงทุนจากจีนมายังไทย เคยสูงถึงมูลค่า 261,705 ล้านบาท เมื่อ 5 ปีที่เเล้ว

นักวิเคราะห์ยังชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงอีกประการหนึ่ง

กล่าวคือ บางประเทศ โดยเฉพาะเวียดนาม ได้ดุลการค้าสหรัฐฯ ในระดับสูง อาจเสี่ยงต่อกำเเพงภาษีของอเมริกาอีกด้วย ตามความเห็นของเดบอราห์ เอล์มส์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายการค้าของ Hinrich Foundation ทั้งตั้งอยู่ในสิงคโปร์

ทรัมป์กล่าวหลายครั้งระหว่างการหาเสียงว่าสหรัฐฯ เสียดุลการค้าให้กับประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากจีนด้วย และเขาส่งสัญญาณว่าจะใช้มาตรการตอบโต้ประเทศเหล่านี้

ในช่วง 10 ปีตั้งแต่ 2014 สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นให้กับไทยทั้งหมด 8 ปี โดยมูลค่าการขาดดุลในปี 2023 อยู่ที่ 40,725 ล้านดอลลาร์ ในปีดังกล่าวสหรัฐฯ ขาดดุลการค้าให้กับเวียดนาม 104,583 ล้านดอลลาร์ และขาดดุลให้กับมาเลเซีย 26,832 ล้านดอลลาร์

ในบรรดาประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ไทยได้ดุลการค้าสหรัฐฯ มากเป็นอันดับสองรองจากเวียดนามในปีที่เเล้ว อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติสหรัฐฯ Census Bureau

เดบอราห์ เอล์มส์ กล่าวด้วยว่า "ยังคงเป็นคำถามปลายเปิด" ว่าบริษัทต่าง ๆจะย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพิ่มหรือไม่ "มันมีปัจจัยมากมายที่สำคัญ แต่มันก็มีเหตุผลว่าทำไมบริษัทต่าง ๆ ยังคงอยู่ในประเทศจีนอย่างหนาเเน่น นั่นก็เพราะจีนยังคงมีขนาดและความคล่องตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งยากที่จะหาที่อื่น ๆ มาเทียบได้"

เธอคิดว่าบริษัทบางแห่งอาจเลือกที่จะผลิตสินค้าในจีนต่อไป และยอมรับเเรงกระเเทกจากภาษีที่เพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ หรืออาจมองหาตลาดอื่นเเทน

ฉากทัศน์นี้อาจนำไปสู่การค้าขายกันมากขึ้นในภูมิภาคเอเชีย

แต่ รองศาสตราจารย์ อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าตลาดสินค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจถูกตัดราคาจากการหลั่งไหลของสินค้าจีน

เมนอน กล่าวปิดท้ายว่า "ในระยะสั้น แน่นอนว่า (ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) จะได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่ ถ้ามีการย้านฐานเพิ่มขึ้น ...แต่ท้ายที่สุด ข้อดีเหล่านี้จะซาลงและจะไม่ได้เป็นประโยชน์มากนักต่อไป"

  • ที่มา: วีโอเอ
Read Entire Article