การใช้อำนาจฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังเข้ารับตำแหน่ง ทำให้เกิดคำถามว่า ศาลสูงสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายตุลาการ จะสามารถใช้อำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและถ่วงดุลรัฐบาลชุดนี้ได้มากน้อยแค่ไหน?
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหลายคนชี้ว่า นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม ดูเหมือนประธานาธิบดีทรัมป์จงใจใช้อำนาจผู้นำฝ่ายบริหารมากกว่าอดีตประธานาธิบดีคนก่อน ๆ ซึ่งรวมถึงประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง คือการจำกัดการให้สถานะพลเมืองอเมริกันแก่เด็กทารกทุกคนที่เกิดในประเทศนี้ การระงับงบประมาณที่ผ่านการรับรองของรัฐสภาแล้ว ตลอดจนการถอดถอนหัวหน้าองค์กรอิสระของรัฐบาลกลางหลายแห่ง
เออร์วิน เคเมรินสกี คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์คลีย์ (University of California Berkeley) กล่าวว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ "ทัศนคติอย่างสุดขั้วเรื่องการใช้อำนาจของประธานาธิบดีอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน"
มาร์ค ทุชเนต์ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด (Harvard) เชื่อว่า "ขณะนี้รัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์กำลังเดิมพันว่า ตุลาการศาลสูงชุดนี้จะไม่มีประสิทธิภาพในการปกป้องกฎหมาย และทางรัฐบาลกำลังถือไพ่เหนือกว่า"
แรงต้านในฝ่ายตุลาการ
คำสั่งฝ่ายบริหารหลายสิบฉบับที่ทรัมป์ลงนามได้นำไปสู่การฟ้องร้องในศาลชั้นรอง ๆ ลงมา รวมถึงคำสั่งเรื่องมาตรการกีดกันผู้อพยพ จำกัดสิทธิ์ของกลุ่มบุคคลข้ามเพศ และสถานะทางกฎหมายของสำนักงานประสิทธิภาพของรัฐบาลกลาง หรือ DOGE ที่ทรัมป์จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ลดงบประมาณและขนาดของรัฐบาลกลาง โดยให้มหาเศรษฐีอีลอน มัสก์เป็นผู้ดำเนินการ
คาดว่า ตุลาการศาลสูงสหรัฐฯ จะต้องนั่งบัลลังก์พิจารณาคำร้องต่าง ๆ เกี่ยวกับนโยบายของทรัมป์ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ขึ้นอยู่กับว่าคำร้องเหล่านั้นจะผ่านศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มาอย่างรวดเร็วแค่ไหน
สตีฟ ชวินน์ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งอิลลินอยส์ วิทยาเขตชิคาโก (University of Illinois Chicago) เชื่อว่า คำสั่งหลายฉบับของทรัมป์มีโอกาสสูงที่จะถูกปัดตกในชั้นศาล โดยเฉพาะคำสั่งที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เช่น การสั่งปิดหน่วยงานของรัฐบาลซึ่งก่อตั้งและได้รับทุนจากรัฐสภาสหรัฐฯ รวมทั้งความพยายามตัดงบประมาณที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภามาแล้ว
ก่อนหน้านี้ ผู้พิพากษาของรัฐบาลกลางบางคนได้สั่งชะลอความพยายามของทรัมป์ในบางเรื่องแล้ว รวมทั้งการตัดงบประมาณของบางหน่วยงาน
โรเบิร์ต ไช่ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอสตัน (Boston University) กล่าวว่า ทรัมป์มีโอกาสแพ้หากคำร้องนั้นเดินทางไปถึงศาลสูง เมื่อพิจารณาจากการแบ่งแยกอำนาจฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติออกจากกันอย่างชัดเจนตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ รวมทั้งคำสั่งที่ขัดกับกฎหมายและคำตัดสินของศาลสูงเองก่อนหน้านี้
จำกัดสถานะพลเมืองอเมริกันสำหรับเด็กที่เกิดในสหรัฐฯ
หลังเข้ารับตำแหน่งปธน. เพียงวันเดียว ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งจำกัดการให้สถานะพลเมืองสหรัฐฯ โดยอัตโนมัติแก่เด็กทารกทุกคนที่เกิดในประเทศนี้ ในกรณีที่พ่อและแม่ของเด็กไม่ใช่พลเมืองอเมริกันหรือมิได้อาศัยอยู่ในประเทศนี้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ต่อมาศาลในบางรัฐได้สั่งระงับคำสั่งฝ่ายบริหารดังกล่าวอย่างไม่มีกำหนด โดยให้เหตุผลว่าคำสั่งของทรัมป์ขัดกับสิทธิตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ บทแก้ไขที่ 14 ที่ระบุว่า เด็กทุกคนที่เกิดในสหรัฐฯ ถือเป็นพลเมืองของประเทศนี้
รอยเตอร์ได้สอบถามไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหลายคนเกี่ยวกับประเด็นนี้ ซึ่งทุกคนต่างระบุว่าหากเรื่องนี้ถูกส่งไปถึงศาลสูง เชื่อว่าศาลสูงจะปัดตกทันที
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางคนยังคงไม่มั่นใจ และคาดว่าอาจมีตุลาการฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างน้อยหนึ่งคนที่ต้องการให้เปิดพิจารณากฎหมายสถานะพลเมืองที่แก้ไขครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1898 ภายใต้คำร้องที่ชื่อว่า "สหรัฐฯ กับ หว่อง คิม อาร์ก" (United States v. Wong Kim Ark) ที่อาจตีความได้ว่า หมายถึงเด็กทุกคนที่เกิดในสหรัฐฯ ซึ่งพ่อแม่ไม่ใช่พลเมืองอเมริกันแต่กำลังอยู่ระหว่างการได้รับสถานะที่ถูกต้อง
ด้านกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ชี้ว่า คำตัดสินดังกล่าวของศาลสูงหมายรวมถึงเด็กที่มีพ่อแม่อยู่อาศัยอย่างถาวรในสหรัฐฯ เท่านั้น
กัวแตม ฮานส์ อาจารย์ด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ (Cornell) แสดงความหวังว่า ศาลสูงจะสั่งยับยั้งคำสั่งฝ่ายบริหารว่าด้วยการจำกัดการให้สถานะพลเมืองสหรัฐฯ นี้ทันที แต่ที่ผ่านมาตนยังไม่มั่นใจในตุลาการศาลสูงชุดนี้มากนัก และว่า การดำเนินนโยบายของทรัมป์ในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังเข้ารับตำแหน่ง ถือเป็น "ภัยคุกคามสูงสุดต่อประชาธิปไตยของอเมริกานับตั้งแต่สงครามกลางเมือง"
ศาลสูงกับคำตัดสินเอียงขวา
ปัจจุบัน 6 ใน 9 ของตุลาการศาลสูงสหรัฐฯ คือผู้มีแนวคิดเอนเอียงทางอนุรักษ์นิยม ในจำนวนนี้มี 3 คนที่ทรัมป์เป็นผู้แต่งตั้งระหว่างการดำรงตำแหน่งสมัยแรก ได้แก่ผู้พิพากษานีล กอร์ซิช, ผู้พิพากษาเบรตต์ คาวานาห์ และผู้พิพากษาเอมี โคนีย์ แบร์เรตต์
นั่นหมายความว่าการจะที่จะมีคำตัดสินที่ขัดแย้งกับปธน.ทรัมป์ จะต้องมีตุลาการฝ่ายขวาอีกอย่างน้อย 2 คนที่ตัดสินใจเข้าร่วมกับฝ่ายเสรีนิยมที่มี 3 คน
นักวิเคราะห์ชี้ว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนคำตัดสินของศาลสูงชุดนี้กำลังทำให้กฎหมายของของสหรัฐฯ เอนเอียงไปทางขวามากขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งการกลับคำตัดสินของศาลสูงว่าด้วยสิทธิในการทำแท้งเสรี และการขยายสิทธิในการถือครองปืนเมื่อปี 2022 รวมทั้งการปฏิเสธกระบวนการรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ผ่านนโยบายความหลากหลายทางเชื้อชาติ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังรวมถึงชัยชนะทางกฎหมายของทรัมป์ในคดีฟ้องร้องสามคดีเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งนำไปสู่การยืนยันสิทธิของประธานาธิบดีที่จะได้รับการปกป้องจากการถูกดำเนินคดีอาญาต่าง ๆ ขณะที่อยู่ในตำแหน่งด้วย
ทั้งนี้ ตุลาการศาลสูงนั้นจะอยู่ในตำแหน่งตลอดชีวิตนอกเสียจากจะลาออกเสียเอง โดยทรัมป์อาจจะมีโอกาสแต่งตั้งตุลาการคนใหม่ในช่วงสี่ปีจากนี้ขณะที่เขาอยู่ในตำแหน่งด้วย หากว่ามีผู้พิพากษา 1 ใน 9 ที่มีเหตุให้ต้องสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งลง
- ที่มา: รอยเตอร์
กระดานความเห็น