การส่งกำลังพลเกาหลีเหนือไปช่วยรัสเซียกำลังส่งผลกระทบไปยังจีนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งสองชาติ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าทำให้ท่าทีต่อสงครามในยูเครนของรัฐบาลปักกิ่งเผชิญปัจจัยที่ซับซ้อนขึ้น
สิ่งที่บ่งชี้ว่าจีนพัวพันในสมการความขัดแย้งนี้ มาจากการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G20 ที่บราซิล และในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ที่เปรู ที่หลายชาติคู่ค้าของจีนร้องขอให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กดดันเกาหลีเหนือให้เลิกส่งกำลังไปช่วยรัสเซียรบกับยูเครน
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีจีนกล่าวในการแถลงข่าวร่วมกับ ปธน.ลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา แห่งบราซิล เรียกร้องให้มี “เสียงแห่งสันติภาพมากขึ้น” ในยูเครน และผลักดันฉันทามติหกข้อที่จีนและบราซิลเคยเสนอเมื่อเดือนพฤษภาคม ที่มุ่งเน้นให้เกิดการเจรจาและหาข้อสรุปในทางการเมือง
เมื่อวันอังคาร นายกรัฐมนตรีเยอรมนี โอลาฟ โชลต์ซ กล่าวกับสีในเวที G20 ว่าการร่วมรบของเกาหลีเหนือคือการยกระดับสงครามในยูเครน
ด้านประธานาธิบดียูน ซุก ยอล แห่งเกาหลีใต้ ร้องขอผู้นำจีนในเวทีเอเปค ให้มีบทบาท “อย่างสร้างสรรค์” ในเรื่องความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งขึ้นระหว่างรัฐบาลกรุงเปียงยางและกรุงมอสโก
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ กล่าวกับสีในเวทีเอเปคว่า การร่วมสงครามของเกาหลีเหนือ ขัดกับจุดยืนของจีนที่ไม่ต้องการให้สงครามในยูเครนบานปลายขยายวง และจีนมีศักยภาพและอิทธิพลในการป้องกันไม่ให้สงครามดำเนินไปในทางนั้น อ้างอิงจากการแถลงข่าวของที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ เจค ซัลลิแวน
นักวิเคราะห์มองว่าจีนกำลังเผชิญโจทย์ที่ท้าทาย ในการมีท่าทีต่อสงครามที่ซับซ้อนขึ้นไปพร้อม ๆ กับการคานอำนาจกับชาติตะวันตก
แพทริเซีย คิม ผู้ทำโครงการ Global China Project จากสถาบันบรูคกิง (Brooking Institute) กล่าวกับวีโอเอว่าจีนคงไม่สบายใจกับสัมพันธ์ทางทหารที่ลึกซึ้งขึ้นของรัสเซียและเกาหลีเหนือ แต่ก็ไม่สามารถโดดเดี่ยวทั้งสองชาติในขณะที่อาจต้องเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ มากขึ้นในรัฐบาลต่อไปที่จะนำโดยโดนัลด์ ทรัมป์
เธอกล่าวว่า “ตอนนี้ปูตินติดหนี้คิม (คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ) และนี่อาจไปส่งเสริมให้กรุงเปียงยางมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงมากขึ้นในประเทศตัวเอง ซึ่งอาจส่งผลกระทบกลับไปยังจีนได้”
ที่ผ่านมา จีนยังลังเลที่จะพูดคุยกับคิม จอง อึน กรณีการส่งกองกำลังและยุทธปัจจัยไปช่วยรัสเซีย
ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกีแห่งยูเครน กล่าวเมื่ออังคารที่ผ่านมาว่ากรุงเปียงยางอาจส่งทหารมาร่วมรบถึง 100,000 คน ในขณะที่สหรัฐฯ ประเมินว่าตอนนี้มีกำลังรบจากเกาหลีเหนืออยู่ในแคว้นเคิร์สก์แล้วราว 11,000 คน
บอนนี กเลเซอร์ ผู้อำนวยการโครงการอินโด-แปซิฟิก จากองค์กรคลังความคิด German Marshall Fund of the United States กล่าวว่า สี จิ้นผิง ไม่น่าจะเผชิญหน้ารัสเซียและเกาหลีเหนือในประเด็นนี้ และคงจะกังวลกับท่าทีของสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่จะกระทบกับผลประโยชน์ของจีนมากกว่า
ที่ผ่านมา จีนเองก็ถูกกล่าวหาว่าจัดส่งวัตถุดิบที่ทั้งพลเรือนและทหารใช้งานได้ (dual use goods) ไปให้รัสเซียผลิตอาวุธ และทางสหภาพยุโรปก็เคยเตือนจีน กรณีรายงานการผลิตโดรนจู่โจมของรัสเซียในเขตปกครองพิเศษซินเจียงของจีนเช่นกัน
หลิว เพ็งหยู โฆษกสถานทูตจีนประจำกรุงวอชิงตัน กล่าวกับวีโอเอเมื่อวันพุธว่าจุดยืนของจีนเกี่ยวกับยูเครนและคาบสมุทรเกาหลียังคง “เสมอต้นเสมอปลาย” และที่ผ่านมา รัฐบาลกรุงปักกิ่ง “พยายามเดินหน้าให้สถานการณ์บรรเทาลง” ในยูเครน
โจเซฟ เดอทรานี อดีตผู้แทนพิเศษในเวทีปลดอาวุธนิวเคลียร์หกฝ่ายปี 2003-2006 ที่มีจีนและเกาหลีเหนือร่วมโต๊ะด้วย กล่าวว่าจีนมีประสบการณ์ และทำได้ดีในการมีบทบาทที่คลุมเครือทางการทูต สะท้อนจากการสนับสนุนรัสเซียไปพร้อม ๆ กับเลี่ยงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป
เขามองว่าผู้นำจีนจะไม่สนับสนุนการทำสงครามของรัสเซียอย่างเปิดเผย เพราะกังวลว่าจะเสียความน่าเชื่อถือในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาที่สี จิ้นผิง พยายามสื่อสารว่าระบบการปกครองของจีนเหนือกว่าระบบเสรีประชาธิปไตยแบบสหรัฐฯ
ริชาร์ด ไวซ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์การเมือง-การทหาร จากสถาบันฮัดสัน (Hudson Institute) กล่าวว่าจีนและรัสเซีย “มีจุดร่วมพื้นฐานในระดับโลกที่ต่อต้านระเบียบของสหรัฐฯ และชาติตะวันตก ดังนั้น พวกเขาจะไม่ให้ความเห็นต่างในประเด็นจำเพาะมาแทรกแซงขบวนแนวร่วมในระดับโลก”
หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน กล่าวในการพบกับเซอร์เก ลาฟรอฟ รมต.ต่างประเทศของรัสเซียระหว่างประชุม G20 เมื่อวันจันทร์ที่แล้ว ว่ารัฐบาลปักกิ่งพร้อมร่วมมือกับรัสเซียอย่างใกล้ชิดภายใต้กรอบองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization) อ้างอิงจากสื่อ TASS ของรัฐบาลรัสเซีย
ในวันต่อมา กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียเน้นย้ำถึงความสำคัญของทั้งสองชาติ ในการเสริมสร้างนโยบายต่างประเทศในเวทีระดับโลก รวมถึงในเวทีองค์การสหประชาชาติ ในกลุ่มประเทศ BRICS และ G20
- ที่มา: วีโอเอ
กระดานความเห็น