วิเคราะห์: เศรษฐกิจ ท่องเที่ยว ทักษิณ โฟกัสใหญ่ปี 68 ยุค รบ.แพทองธาร

3 days ago 3
❤️ ARTICLE AD BOX ❤️

หลากหลายเหตุการณ์บ้านเมืองเกิดขึ้นใน 366 วันบนหน้าปฏิทิน หนึ่งในสิ่งที่น่าจับตามองกันต่อไปคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร และบทบาทของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นพ่อ

หลังการบริหารประเทศ 9 ปีของรัฐบาลทหาร ไล่มาถึงการเปลี่ยนผ่านอำนาจหลังเลือกตั้ง และความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินอยู่ นโยบายของรัฐบาลปัจจุบันถือเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ ตามความเห็นของ ศ.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศ.ฐิตินันท์มองว่า แม้การจัดตั้งรัฐบาลที่มีการแทรกแซงอย่างหนักจะทำให้เกิดทั้งข้อจำกัดและเสียงคัดค้านต่อต้านตามมา แต่ในปี 2568 อาจพอได้เห็นเสถียรภาพ ที่จะเป็นโอกาสให้ไทยฟื้นฟูเศรษฐกิจและที่ทางในเวทีโลกอีกครั้งหลังการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาลทหาร

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อปีช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาค

เดิมที กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ในปี 2024 จะโตขึ้น 3.0% แต่ในเวลาต่อมาปรับลดลงเป็น 2.7%

ภาคส่วนที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่นภาคการผลิต ก็เผชิญกับการปิดตัวของของโรงงานอุตสาหกรรมหลายพันแห่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางการชี้แจงในช่วงกลางปีนี้ของกรมโรงงาน ว่าจำนวนโรงงานที่เปิดในช่วงครึ่งปีนี้ มีมากกว่าจำนวนที่ปิดตัวลง ตามการรายงานของสื่อประชาชาติธุรกิจ

เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวกับวีโอเอไทยในช่วงปีนี้ว่า ไทยมีปัญหาในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค

อาจารย์จาก มธ. กล่าวด้วยว่า “เศรษฐกิจของเราทำงานบนโครงสร้างเดิมตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 และนั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมความสามารถในการแข่งขันของเราถึงอ่อนแอลง”

ปัญหาเศรษฐกิจทำให้อดีตนายกฯ ทักษิณเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ด้วยการประกาศยุทธศาสตร์ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 14 ข้อ ที่มีทั้งข้อเสนอด้านการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ ปฏิรูปภาคการเกษตร สนับสนุนภาคการท่องเที่ยว รวมถึงเดินหน้าตั้งสถานบันเทิงครบวงจร หรือ entertainment complex ที่มีการพูดถึงบ่อนการพนันถูกกฎหมาย

ในฟากฝั่งรัฐบาล หนึ่งในมาตรการทางเศรษฐกิจที่ดำเนินรอยต่อมาจากข้อเสนอของรัฐบาลเพื่อไทยในชุดอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน คือโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล หรือดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทที่ได้แจกประชากรกลุ่มเปราะบางไปแล้วในเฟสที่หนึ่ง

ฐิตา แสงหลี นักวิชาการจาก ISEAS-Yusof Ishak Institute ประเทศสิงคโปร์ กล่าวกับวีโอเอว่ารัฐบาลแพทองธารมีนโยบายมุ่งเน้นไปที่เศรษฐกิจเหมือนรัฐบาลเศรษฐา เพียงแต่สามารถขับดันวาระของพรรคเพื่อไทยได้มากและรวดเร็วกว่า เพราะเธอเป็นทั้งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและลูกสาวของทักษิณ จึงมีทรัพยากรและทีมงานที่มากกว่า

ฐิตามองด้วยว่านโยบายด้านสังคมที่ผลักดันออกมาเป็นรูปธรรมในปีนี้ ทั้งกฎหมายสมรสเท่าเทียมและการให้สัญชาติผู้อพยพ ล้วนแล้วแต่มีผลในทางเศรษฐกิจทั้งนั้น โดยยกตัวอย่างถึงการเป็นผู้นำในด้านการเปิดรับความหลากหลายทางเพศก็ทำให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว

เมื่อปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 การท่องเที่ยวของไทยสร้างรายได้สูงสุดอยู่ที่ 11.5% เทียบกับ GDP ของประเทศ

เมื่อปี 2567 ไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวราว 34 ล้านคน และคาดการณ์ว่าในปีหน้าจะมีผู้มาเยือนที่ 40 ล้านคน ซึ่งจะถือเป็นยอดที่สูงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมา โดยในช่วงสองปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยพยายามอำนวยความสะดวกและดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศผ่านโครงการฟรีวีซ่า

ศ.ฐิตินันท์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับวีโอเอเมื่อเดือนสิงหาคมว่า ไทยต้องให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ การเรียนรู้ด้วยข้อมูลหรือ machine learning รวมถึงปฏิรูปการศึกษา

ส่วนในแง่การเมือง ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศรายนี้มองว่าต้องมองท่วงท่าของทักษิณว่าจะมีผลต่อทิศทางการเมืองไทยอย่างไร

“ปี ค.ศ.2025 อาจได้เห็นการเคลื่อนไหวแบบใหม่ หลังทักษิณได้รับอนุญาตให้บริหารประเทศอยู่เบื้องหลังแพทองธารที่เป็นผู้นำ ร่วมกับการยินยอมอย่างไม่สะดวกใจนักจากกลุ่มอำนาจเดิมที่นิยมกษัตริย์ สืบเนื่องจากความกลัวพรรคประชาชนที่มีแนวคิดปฏิรูป ซึ่งรับช่วงต่อมาจากพรรคก้าวไกลที่ถูกยุบพรรคไป”

  • ที่มา: วีโอเอ, ประชาชาติธุรกิจ

กระดานความเห็น

Please enable JavaScript to view the comments powered by Disqus.
Read Entire Article