ผู้นำประเทศในสหภาพยุโรป เตรียมหารือกันที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม ปลายสัปดาห์นี้ โดยมีประเด็นที่รัฐบาลวอชิงตันระงับความช่วยเหลือด้านการทหารกับยูเครน เมื่อวันจันทร์เป็นหนึ่งในเรื่องราวที่ปกคลุมการหารือครั้งนี้ นอกเหนือจากการหารือเรื่องแผนงบด้านกลาโหม 840,000 ล้านดอลลาร์ของอียู
เออร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวก่อนการประชุมคณะกรรมาธิการยุโรป สมัยวิสามัญ ที่จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้ว่า “คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่าความมั่นคงของยุโรปถูกคุกคามหรือไม่ หรือยุโรปควรรับผิดชอบต่อความมั่นคงของแต่ละประเทศหรือไม่ .. แต่คำถามที่แท้จริงที่อยู่ตรงหน้าของพวกเรา .. คือยุโรปเตรียมพร้อมที่จะดำเนินการอย่างเด็ดขาดตามที่สถานการณ์กำหนดหรือไม่ - และยุโรปพร้อมและสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและมีความมุ่งมั่นพอหรือไม่”
ถ้อยความนี้ได้สะท้อนในการประชุมฉุกเฉินหลายวาระของสหภาพยุโรปในช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางความกังวลถึงความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะลดบทบาทในยุโรป และสิ่งนี้ได้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของยุโรปในเรื่องการเพิ่มงบกลาโหม หลังจากรัฐบาลวอชิงตันออกมาเรียกร้องในประเด็นดังกล่าวในช่วงหลายปีนี้มานี้
แต่ประเทศสมาชิกในอียู ยังเผชิญกับความท้าทายอื่น ๆ ในช่วงที่ยุโรปมีท่าทีที่จะเสริมความแข็งแกร่งด้านการทหารใน 27 ประเทศสมาชิกมากขึ้น ทั้งประเด็นการเมืองและเศรษฐกิจภายในประเทศ มุมมองของสมาชิกอียูต่อรัสเซียที่เปลี่ยนไป และความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงจุดยืนของสหรัฐฯ ต่อพันธมิตรยุโรป ใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
เอียน เลสเซอร์ จากสถาบันคลังสมอง German Marshall Fund ให้ทัศนะกับวีโอเอว่าสิ่งเหล่านี้ “เป็นประเด็นใหญ่สำหรับอนาคตของสหภาพยุโรป” และตั้งคำถามต่อว่ายุโรปจะจัดการประเด็นเหล่านี้ร่วมกัน หรือเลือกจัดการตามแนวทางของแต่ละประเทศ
เงื่อนไขความเร่งด่วนที่แตกต่างในยุโรป
สำหรับผู้นำยุโรปหลายคน สิ่งสำคัญในเวลานี้คือความเป็นหนึ่งเดียวกันในสหภาพยุโรป โดยในการประชุมสุดยอดที่กรุงลอนดอน อังกฤษ เห็นชอบที่จะจัดทำแผนสันติภาพยูเครนด้วยตนเองเพื่อเสนอต่อรัฐบาลวอชิงตัน ขณะที่ฝรั่งเศสและอังกฤษ สนับสนุนความพยายามในการส่งทหารไปในยูเครนเพื่อติดตามการบังคับใช้แผนสันติภาพ
โอเลนา โพรโกเพนโก นักวิชาการอาวุโส จาก German Marshall Fund บอกกับวีโอเอด้วยว่า ผู้นำแต่ละประเทศในยุโรปมีระดับของความเข้าใจถึงภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในยุโรปแตกต่างกัน
ส่วนเอลี เทเนนบาม ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาด้านความมั่นคงจาก French Institute for International Relations ในกรุงปารีส ให้ทัศนะกับวีโอเอว่า ชาวยุโรปบางส่วนมีความกังวลและต้องการให้กลุ่มประเทศยุโรปเป็นปึกแผ่นกันให้ได้มากที่สุด และว่า “หากยุโรปต้องการยกระดับ(ด้านกลาโหม)และชดเชยความช่วยเหลือยูเครนที่หายไปจากฝั่งสหรัฐฯ” ยุโรปควรลงมือทำทันที
นอกเหนือจากประเด็นยูเครนแล้ว ทาง Bruegel policy institute ในกรุงบรัสเซลส์ แห่งเบลเยียม ประเมินว่า ยุโรปจำเป็นต้องมีทหารเพิ่มอีก 300,000 นาย และมีงบประมาณอีกหลายแสนล้านดอลลาร์เพื่อรับมือกับการรุกรานของรัสเซียที่อาจเกิดขึ้นหากปราศจากการสนับสนุนจากสหรัฐฯ
ไมเคิล ดูโคลส อดีตทูตฝรั่งเศส ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์ที่สถาบัน Montaigne Institute ให้ความเห็นกับวีโอเอว่า สถานการณ์ด้านกลาโหมของยุโรปไม่ได้อยู่ในจุดที่ดีนัก “แต่ในเวลาเดียวกันในแง่ประชากร ในแง่เศรษฐกิจ เราอาจจะแข็งแกร่งกว่ารัสเซียมาก หากสามารถร่วมมือกันในการป้องกันประเทศได้”
แรงต้านภายใน
อย่างไรก็ตาม แผนงานด้านกลาโหมใหม่ของยุโรปเผชิญกับกระแสต่อต้านไปแล้ว อย่างน้อยก็จากฝั่งพรรคเนชันแนล แรลลี (National Rally) หรือ RN ซึ่งเป็นพรรคขวาจัดของฝรั่งเศส เมื่อ มารีน เลอ แป็ง ผู้นำฝ่ายค้านและสมาชิกพรรค RN ปฏิเสธแผนการที่ฝรั่งเศสขยายการป้องปรามทางนิวเคลียร์ของตนไปยังประเทศอื่น ๆ ในยุโรป และเรียกว่าเป็น “ภาพลวงตา”
ส่วนวิกเตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการี ซึ่งมีสัมพันธ์อันดีกับรัสเซีย ได้เรียกร้องยุโรปให้เจรจาโดยตรงเพื่อหารือสันติภาพระหว่างยูเครนและรัสเซีย
เมื่อมองในระดับสังคม หลายประเทศในยุโรปเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจ และการสนับสนุนยูเครนของยุโรปเริ่มอ่อนแอลงในบางประเทศ โดยในการสำรวจบางสำนักชี้ว่าชาว 2 ใน 3 ของชาวฝรั่งเศสเชื่อว่ายุโรปควรให้การสนับสนุนยูเครนต่อไป และ 3 ใน 4 ไม่ต้องการให้ส่งทหารเข้าไปในยูเครน เว้นแต่เพื่อการผลักดันแนวทางสันติภาพ
เทเนนบาม เสริมว่า ผู้นำยุโรปพยายามส่งสารในการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนมากกว่าสร้างความกังวล แต่หากพวกเขาต้องการแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการเพิ่มงบกลาโหมให้สูงขึ้น พวกเขาจำเป็นต้องพูดถึงภัยคุกคามในภูมิภาคที่กำลังเผชิญอยู่ให้มากกว่านี้
สำหรับดูโคลส นักวิเคราะห์จากสถาบัน Montaigne Institute มองถึงการปะทะคารมที่ทำเนียบขาวระหว่างผู้นำสหรัฐฯ กับผู้นำยูเครนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ชาวยุโรปเข้าใจว่าสหรัฐฯ และยุโรปไม่ได้แค่เห็นต่างเชิงนโยบาย แต่ยังรวมไปถึงสิ่งที่เป็นรากฐาน ทั้งคุณค่า และมุมมองต่อภัยคุกคามที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังเป็นแรงกระตุ้นให้ยุโรปเตรียมการรับมือเรื่องนี้เพียงลำพังโดยไร้เงาสหรัฐฯ โดยได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเครื่องเตือนสติที่ทรงพลังที่สุดแล้ว”
- ที่มา: วีโอเอ
กระดานความเห็น