นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมในสหรัฐฯ ได้เริ่มนำ “กล่องรับขยะบุหรี่ไฟฟ้า” ไปตั้งไว้ตามร้านค้า ร้านขายบุหรี่ และสถานบันเทิงยามค่ำคืน เพื่อที่จะนำซากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่แยกแล้วซึ่งรวมถึง “บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง” (Disposable Vapes) ไปรีไซเคิลในรูปแบบที่เหมาะสม
นอร่า นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม จากเขตบรู๊คลิน (Brooklyn) มหานครนิวยอร์ก พบบุหรี่ไฟฟ้าที่ถูกใช้แล้วจำนวนมากถูกทิ้งตามท้องถนนในเมือง เธอจึงได้ตัดสินใจริเริ่มโครงการรีไซเคิลขยะบุหรี่ไฟฟ้าด้วยเงินทุนของตัวเอง
นอร่า บอกว่า เธอจะนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ไปรีไซเคิล ในแต่ละเขตของมหานครนิวยอร์ก จะมีศูนย์เปิดรับซากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะทำการสัปดาห์ละหนึ่งวัน
แม้โครงการริเริ่มของนอร่าจะเป็นความพยายามที่ดีจากภาคประชาชนที่ลุกขึ้นต่อสู้กับปัญหามลพิษจากบุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมกลับมองว่า ในภาพรวม สิ่งที่สังคมเผชิญอยู่นั้นมีความท้าทายที่มากกว่านั้น
ลูคัส กัตเตอร์แมน ผู้อำนวยการโครงการ กลุ่ม Public Interest Research Group (PIRG) อธิบายว่า ในสหรัฐฯ ผู้คนทิ้งบุหรี่ไฟฟ้าที่ใช้แล้วจำนวน 4.5 ชิ้นต่อวินาที พร้อมระบุว่า “ปัญหาก็คือบุหรี่ไฟฟ้าเหล่านี้ ทำมาจากส่วนประกอบที่แตกต่างกัน จึงเป็นเรื่องยากต่อการรีไซเคิล จัดการกับซากที่เกิดขึ้น”
เมื่อตรวจสอบในรายละเอียด จะพบว่า ซากของอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้าหลายชนิดมีส่วนประกอบที่อันตราย อย่างเช่น แบตเตอรีลิเธียมและสารนิโคติน
ดร.เจเรไมอาห์ ม็อค อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก ที่ศึกษาเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน ชี้ว่า ซากของอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมหาศาล
ม็อค บอกว่า นิโคตินเป็นสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อระบบประสาท รวมถึงสมองและเส้นประสาททั้งหมดในร่างกาย ดังนั้น หากซากของอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้าถูกทิ้งลงพื้น น้ำฝนที่ตกลงมาจะไปชะล้างและดึงสารอันตรายที่อยู่ในน้ำยาของบุหรี่ไฟฟ้า เช่น นิโคตินและสารเคมีอื่น ๆ ออกมาและนำไปสู่การปนเปื้อนของแหล่งน้ำ อันจะก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โดยรอบ
และเมื่อไม่นานมานี้ แม้แต่สมาคมผู้ค้าปลีกอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้าชั้นของสหรัฐฯ ก็เพิ่งออกมาเรียกร้องให้มีการสั่งห้ามการนำเข้าอุปกรณ์แบบใช้แล้วทิ้ง
เอพริล เมเยอร์ส ซีอีโอ สมาคม Smoke Free Alternatives Trade Association (SFATA) กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของสมาชิกผู้ค้าปลีกและผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้า ที่มีจำนวนหลายร้อยราย “จากการทำแบบสอบถาม เมื่อไม่นานมานี้ พวกเขาแสดงจุดยืนต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง เนื่องจากส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม”
ทั้งนี้ ไมเยอร์สอ้างว่า สมาชิกหลายรายยังต้องจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป เพราะความจำเป็นทางธุรกิจ “เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้น พวกเขาก็จะต้องเลิกกิจการไป”
ปัจจุบันหลายประเทศ ให้ความสำคัญต่อการควบคุมผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด เช่น จีน อิหร่าน และสหราชอาณาจักร ในขณะที่นโยบายด้านการควบคุม รวมถึงการรีไซเคิลซากบุหรี่ไฟฟ้า ของสหรัฐฯ เรียกได้ว่ายัง “ล้าหลัง” และ “ไม่ทัน” ต่อสถานการณ์
- ที่มา: วีโอเอ
กระดานความเห็น