สาวถาม ChatGPT เล่นๆ ว่าทำไมคางรู้สึกตึงๆ คำตอบที่ได้อึ้งขำไม่ออก AI ช่วยชีวิตตัวเองกับลูกในท้องทันเวลา
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีหญิงชาวอเมริกันคนหนึ่งแชร์เรื่องราวบนอินเทอร์เน็ตว่า ตอนตั้งครรภ์ได้ 8 เดือน เธอเคยถาม ChatGPT ด้วยความสนุกว่า “ทำไมคางของฉันถึงรู้สึกตึง ๆ” แต่คาดไม่ถึงว่า ChatGPT กลับแนะนำให้เธอวัดความดันโลหิต และให้รีบเรียกรถพยาบาล เหตุการณ์นี้ทำให้เธอยังรู้สึกขนลุกทุกครั้งที่นึกถึง
นาตาเลีย ทาร์เรียน (Natallia Tarrien) คุณแม่วัย 28 ปี จากเมืองชาร์ลอตต์ รัฐเซาท์แคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แชร์เรื่องราวบนอินเทอร์เน็ตว่าเธอกับลูกในท้องรอดชีวิตมาได้เพราะการพูดคุยกับ AI อย่าง ChatGPT ซึ่งเรื่องนี้ได้รับความสนใจจากชาวเน็ตอย่างมาก
ทาร์เรียนเล่าว่า เวลาว่างเธอมักจะพิมพ์คำถามต่าง ๆ คุยเล่นกับ ChatGPT วันหนึ่งเธอถามว่า “ทำไมคางของฉันถึงรู้สึกตึง ๆ” ChatGPT ก็บอกให้เธอไปวัดความดันโลหิต
เธอเขียนว่า “ตอนนั้นฉันก็แค่รู้สึกตลก เพราะอาการมันไม่ได้รุนแรงอะไร แต่พอทำตามที่ ChatGPT แนะนำ ฉันก็พบว่าความดันฉันสูงมาก สูงมากจริง ๆ” เธอรอดูอีก 30 นาทีแล้ววัดซ้ำ ความดันกลับยิ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ จน ChatGPT บอกเธอด้วยจริงจังว่า “เรียกรถพยาบาล เดี๋ยวนี้เลย!” (Call an ambulance. Now.)
เธอเล่าว่า เมื่อไปถึงโรงพยาบาล ความดันของเธอพุ่งสูงถึง 200/146 แพทย์เพียงแค่มองหน้าเธอก็บอกทันทีว่า “เราต้องทำคลอดคุณเดี๋ยวนี้”
แม้ว่าทารกจะคลอดออกมาอย่างปลอดภัย และเธอเองก็กลับมาสุขภาพแข็งแรง แต่ทาร์เรียนไม่อาจลืมคำพูดของแพทย์ที่เตือนว่า “ถ้าคืนนั้นคุณเลือกนอนหลับไป คุณอาจจะไม่ได้ตื่นขึ้นมาอีกเลย”
หลังจากคลอดแล้ว ความดันของเธอก็ยังคงสูงต่อเนื่องถึง 5 วัน จนทำให้เธอสูญเสียการมองเห็นชั่วคราว แพทย์จึงรีบนำตัวเธอเข้ารับการตรวจ MRI เพื่อตรวจหาอาการบวมในสมอง และต้องนอนโรงพยาบาลหลายวันกว่าจะฟื้นตัว
ผลการวินิจฉัยพบว่าเธอเป็นโรคครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ซึ่งตามข้อมูลจากโรงพยาบาลเฉิงชิง สาขาจงกัง ระบุว่า โรคนี้เรียกอีกอย่างว่า “พิษแห่งการตั้งครรภ์” หรือ “ความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์” มักเกิดขึ้นหลังสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์ โดยมีอาการความดันสูงร่วมกับการมีโปรตีนในปัสสาวะหรืออาการบวมน้ำทั้งตัว หากไม่ได้รับการควบคุม อาจพัฒนาเป็นอาการชักหรือหมดสติ และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของแม่และลูก รวมถึงการคลอดก่อนกำหนด
ข้อมูลยังระบุว่า โรคครรภ์เป็นพิษอันตรายเพราะอาการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ทารกในครรภ์ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เช่น รกลอกตัวก่อนกำหนด ทารกขาดออกซิเจนจนเสียชีวิต หรือแม่เสียชีวิตจากการเสียเลือดมากเพราะเลือดไม่สามารถแข็งตัวได้
ท้ายที่สุด ทาร์เรียนกล่าวว่า “ทั้งหมดนี้เริ่มจากอาการเล็ก ๆ และคำถามเล่น ๆ คำเดียว ขอบคุณนะ ChatGPT ที่ช่วยชีวิตเราทั้งสองคนไว้”
เรื่องราวของเธอได้รับความสนใจอย่างมากบนโลกออนไลน์ หลายคนแสดงความเห็นว่า “นี่แหละคือสิ่งที่เราอยากให้ AI ทำ ไม่ใช่มาแย่งงานศิลปะของเรา” หรือ “ฉันก็เคยคุยกับ ChatGPT แล้วมันแนะนำให้ไปหาหมอ สุดท้ายก็พบว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบจริง ๆ และต้องผ่าตัด” แต่อีกด้านหนึ่งก็มีคนเตือนว่า “ถ้าคุณเสิร์ชคำว่า ‘หญิงตั้งครรภ์’ กับ ‘ความดันสูง’ ใน Google ผลลัพธ์ก็จะเหมือนกัน อย่าสร้างภาพให้ AI ดูเหมือนหมอ เพราะมันไม่ใช่หมอ!”
คุณหมอ โอลา โอโตลานา (Ola Otulana) แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปของสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า แม้เรื่องราวของทาร์เรียนจะน่าสนใจ แต่ประชาชนควรจำไว้ว่าห้ามใช้ ChatGPT ในการวินิจฉัยโรค เพราะ “มันไม่รู้ประวัติสุขภาพของคุณ ไม่สามารถตรวจร่างกายคุณได้ และก็ไม่สามารถให้การดูแลรักษาอย่างมืออาชีพได้” เขาเสริมว่า เรื่องนี้สะท้อนถึงความสำคัญของการฟังสัญญาณจากร่างกายและลงมือปฏิบัติตามอาการที่เกิดขึ้น “ไม่ว่าจะคำแนะนำนั้นมาจาก AI หรือสัญชาตญาณ สิ่งสำคัญคือการลงมือทำ ซึ่งนั่นแหละคือสิ่งที่ช่วยชีวิตเธอจริง ๆ”