กลายเป็นเรื่องฮือฮาทันทีเมื่อ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ได้เผยภาพพืชหายากที่หายจากบันทึกโลกมานานถึง 113 ปี แต่กลับมาโผล่อยู่ที่จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย
โดยทางเพจ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ได้เผยภาพพร้อมข้อความว่า "กลับมาปรากฏอีกครั้ง บนผืนแผ่นดินไทย" เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2568
Heterostemma brownie Hayata โผล่กลับมาอย่างสง่างาม ท่ามกลางพรมมอสเขียวขจีกลางผืนป่าดิบใน จ.เชียงราย นี่คือการปรากฏตัวอีกครั้งในรอบกว่าศตวรรษ เผยแพร่ที่นี่ครั้งแรก! บนโลกโซเชียลของไทย
สำหรับ พืชชนิดนี้เคยมีรายงานเพียงใน ไต้หวัน จีน และเวียดนาม เมื่อราว พ.ศ. 2449 (1906) ก่อนจะเงียบหายจากบันทึกของโลกพฤกษศาสตร์ไปนานนับร้อยปี จนกระทั่งใน พ.ศ. 2562 ทีมนักอนุกรมวิธานพืชจากองค์การสวนพฤกษศาสตร์ (BGO) ได้ค้นพบอีกครั้งในพื้นที่ป่าดิบของเชียงราย และมีการตีพิมพ์รายงานอย่างเป็นทางการในปีถัดมา (พ.ศ. 2563)
ซึ่งลักษณะเด่นที่สะกดสายตา
• เป็นไม้เลื้อยเนื้ออ่อน มีน้ำยางสีขาว
• ใบเรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปไข่ถึงรูปรี
• ดอกสีเหลืองสด มีกลีบดอก 5 แฉกคล้ายดาว
• บริเวณกลีบดอกมีจุดประสีแดงทั่วแผ่นกลีบ
• กลางดอกโดดเด่นด้วยกระบังรอบสีแดงเข้ม 5 แฉก รูปทรงคล้ายดาวทะเลที่นิ่งสงบใต้ผืนทะเลลึก
จัดอยู่ในวงศ์ Apocynaceae (วงศ์ดอกรัก) สถานภาพการอนุรักษ์ ยังไม่ถูกจัดอันดับอย่างเป็นทางการ แหล่งที่พบในธรรมชาติ เฉพาะป่าดิบของจังหวัดเชียงราย ที่ความสูงประมาณ 500 เมตร จากระดับทะเล ช่วงออกดอก : ฤดูฝน (เดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม)
พร้อมกันนี้ทางเพจ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ยังได้ชวนประชาชนชาวไทย ร่วมกันตั้งชื่อให้กับพืชหายากชนิดนี้ผ่านทางเฟซบุ๊ก สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
ข้อมูลโดย : ดร.วรนาถ ธรรมรงค์ [W.Thammarong] นักอนุกรมวิธานพืช | สำนักวิจัยและอนุรักษ์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ภาพถ่ายโดย : Dr. Michele Rodda อ้างอิง : Thammarong, W., Rakarcha, S. & Rodda