ความขัดเเย้งทางการค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ มีที่มาที่ไปที่น่าสนใจ และบางครั้งเป็นผลมาจากปัจจัยทางการเมือง
แม้นักวิเคราะห์จำนวนมากเห็นว่า สิ่งกีดกั้นทางการค้าที่ลดลงจะเป็นประโยชน์กับคู่ค้าทุกฝ่าย แต่รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ มักเผชิญกับสถานการณ์ที่ ด้านหนึ่งต้องการเพิ่มการค้าขาย แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ
เมื่อสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังใช้มาตรการภาษีเพื่อต่อรองในการค้าขายกับต่างชาติ วีโอเอชวนมองย้อนประวัติสงครามการค้าระหว่างอเมริกากับประเทศอื่น ๆ ในโลก
ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 การค้าขายของสหรัฐฯ กับต่างชาติ รุ่งเรืองมาก แต่ต่อมาเกิดเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ในเหตุการณ์ Great Depression ที่เริ่มขึ้นในปี 1929 รัฐสภาสหรัฐ จึงต้องการช่วยเกษตรกรอเมริกัน ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้า
เเม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจากนักวิชาการและภาคธุรกิจเพราะสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ได้ดุลการค้าสูงอยู่แล้ว แต่ประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ลงนามบังคับใช้กฎหมาย เก็บภาษีสินค้านำเข้าเกือบ 2,000 หมวดที่ระดับกว่า 50% นับว่าเป็นอัตราที่สูงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ
ประเทศอื่น ๆ ตอบโต้ด้วยมาตรการทางการค้า ซึ่งมีส่วนทำให้การส่งออกของสหรัฐฯ ช่วงไม่กี่ปีจากนั้นลดลง 66% ต่อมาประธานาธิบดีเเฟรงคลิน ดี รูสเวลต์ยกเลิกมาตรการภาษีของรัฐบาลก่อน ในปี 1934
การขึ้นภาษีในยุคของฮูเวอร์ภายใต้กฎหมาย Smooth-Hawley Tariff Acts จึงการเป็นกรณีศึกษาถึงผลร้ายที่เกิดจากการก่อสงครามการค้า
ต่อมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เศรษฐกิจญี่ปุ่นรุ่งเรืองหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อสหรัฐฯ ให้การการันตีด้านความมั่นคงแก่ญี่ปุ่น
รัฐบาลวอชิงตัน ใช้มาตรการการค้าต่อสินค้าประเภทเซมิคอนดักเตอร์จากญี่ปุ่น นอกจากนี้รัฐบาลโตเกียวยอมรับการกำหนดเพดานปริมาณส่งออกรถยนต์และเหล็กไปยังสหรัฐฯ
ในปี 1985 ที่โรงเเรมพลาซ่า ในมหานครนิวยอร์ก มีการลงนามพหุพาคีเพื่อช่วยการส่งออกของสหรัฐฯ ด้วยเงื่อนไขให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง แต่ญี่ปุนก็ยังได้ดุลการค้าจากสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงจนกระทั่งเกิดฟองสบู่ทางเศรษฐกิจและค่อย ๆ อ่อนตัวลงจนเข้าสู่ยุคการเติบโตชะงักงันของเเดนอาทิตย์อุทัย
สหรัฐฯ และยุโรปเคยเกิดความขัดเเย้งเรื่องการค้าขายกล้วย ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ยาวไปถึงเริ่มต้นศตวรรษที่ 21 เพราะยุโรปสามารถซื้อกล้วยจากประเทศอดีตอาณานิคมของตนในภูมิภาคเเคริเบียนแทนที่จะซื้อจากบริษัทที่สหรัฐฯ มีผลประโยชน์อยู่ในอเมริกากลางและอเมริกาใต้
ยุโรปถูกกล่าวหาว่าได้โควต้าซื้อกล้วยที่เอื้อประโยชน์ต่อตนจากประเทศในเเคริเบียน สหรัฐฯ จึงใช้มาตรการภาษีที่สินค้ามูลค่า 200 ล้านดอลลาร์จากยุโรป ความขัดเเย้งนี้ดำเนินไปสู่ปี 2009 ซึ่งประเทศที่เกี่ยวข้องสามารถหาทางคลี่คลายความขัดแย้งได้ในที่สุด
ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 สหรัฐฯ ซึ่งเคยมีส่วนเเบ่งตลาดโลกในอุตสาหกรรมเหล็กระดับเเนวหน้า สูญเสียความเป็นผู้นำ
การลอบบี้ของภาคเอกชนทำให้รัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เก็บภาษีเพื่อการ "ป้องกัน" สินค้าเหล็ก สูงสุด 30% ในปี 2002 ปรากฏว่าผลที่ตามมาคือสินค้าในสหรัฐฯ ราคาสูงขึ้น และต้องลดตำแหน่งงานเกือบ 200,000 อัตราในอุตสาหกรรมที่ใช้เหล็ก
นอกจากนั้นในปี 2003 องค์การการค้าโลกหรือ World Trade Organization ตัดสินค้านการขึ้นภาษีเหล็กของสหรัฐฯ ที่ต่อมาต้องถูกล้มเลิกไป
ในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยเเรกของโดนัลด์ ทรัมป์ ปี 2017 เขาใช้มาตรการภาษีต่อจีน และกล่าวหารัฐบาลปักกิ่งว่า ฉวยโอกาสจากนโยบายการค้าที่เปิดเสรีและขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ
แม้ความตึงเครียดระหว่าสองประเทศลดลงช่วงปลายของรัฐบาลทรัมป์สมัยเเรก แต่รัฐบาลต่อมาภายใต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนยังคงมาตรการต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อสินค้าจีน
และในเวลานี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ เริ่มการบริหารประเทศสมัยที่สอง และเขาประกาศมาตรการภาษีกับหลายประเทศ รวมทั้ง จีน เเคนาดาและเม็กซิโก
อย่างไรก็ตามเมื่อทรัมป์ได้หารือกับผู้นำเม็กซิโกและเเคนาดา เขาตัดสินใจไม่รีบขึ้นภาษีสองประเทศดังกล่าว เพื่อแลกกับการที่แคนดาและเม็กซิโกต้องเร่งเเก้ไขปัญหาคนเดินทางเข้าสหรัฐฯ ผิดกฎหมายและการปราบปรามยาเสพติด
หากพิจารณาถึงสถานการณ์โลกปัจจุบัน นานาประเทศเห็นว่านโยบายการค้าเป็นกลไกหนึ่งสำหรับการต่อรองเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองด้วย
- ที่มา: วีโอเอ
กระดานความเห็น