ส่องผลการขึ้นภาษีโลหะยุคทรัมป์ 1 - บอกอนาคตได้อย่างไรบ้าง

3 weeks ago 25
❤️ ARTICLE AD BOX ❤️

ในสัปดาห์นี้ ข่าวใหญ่ในตลาดการลงทุน มาจากการตั้งกำเเพงภาษีของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ โดยเฉพาะต่อสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม

ทิศทางนโยบายการค้าที่ว่านี้ เคยเกิดมาเเล้วในสมัยเเรกของการบริหารประเทศของทรัมป์ปี 2017-2021

รอยเตอร์ออกรายงานที่ฉายภาพผลลัพธ์ของเเนวทางดังกล่าว ที่อาจช่วยบอกอนาคตว่าการใช้มาตรการเดียวกันในครั้งนี้ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

เช่นเดียวกับการบริหารประเทศสมัยเเรก ท่าทีล่าสุดนนี้สะท้อนถึงแนวคิดชาตินิยมทางเศรษฐกิจ แต่รอยเตอร์ระบุว่าเป็นการติดเขี้ยวเล็บที่แหลมคมกว่าเดิม

ปฏิกิริยาตอบกลับเเรกของนโยบายกำเเพงภาษีต่อสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ คือราคาสินค้าที่เเพงขึ้น

ทั้งอะลูมิเนียมและเหล็กราคาเพิ่มขึ้นในช่วงปีเเรก ๆ ของการบริหารประเทศสมัยเเรกของทรัมป์ โดยราคาในประเทศดีดตัวเเรงเป็นพิเศษ

ราคาเหล็กสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 5% ในเดือนเเรกของการเริ่มใช้มาตรการ ส่วนราคาอะลูมิเนียมแพงขึ้น 10%

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือน ราคาอะลูมิเนียมในสหรัฐฯ ปรับตัวลง ตามมาด้วยการลดลงของราคาเหล็กในประเทศ ส่วนการที่ราคาสินค้าเหล่านี้ในสหรัฐฯ แพงกว่าในต่างประเทศยังคงเป็นเช่นนั้นต่อไป และส่วนต่างกว้างกว่าช่วงก่อนตั้งกำเเพงภาษี

การปรับฐานลงมาของราคาโลหะทั้งสองประเภทยังคงไม่มากพอ หากเทียบกับการเพิ่มขึ้นในช่วงเเรก โดยเฉพาะเหล็กที่มีระดับภาษี 25% โดยราคาเหล็กไม่ได้ลดลงต่ำกว่าระดับก่อนใช้มาตรการภาษี จนกระทั้งเดือนมกราคมปี 2019

กลางปีดังกล่าว สหรัฐฯ เลิกมาตรการภาษีต่อเหล็กและอะลูมิเนียมของแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งรวมกันสองประเทศมีส่วนแบ่งตลาดนำเข้า 27% ของเหล็กที่สหรัฐฯ ซื้อจากต่างประเทศ และ 43% สำหรับอะลูมิเนียม

เมื่อโจ ไบเดนรับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากทรัมป์ เขายกเลิกมาตรการภาษีโลหะต่อสหภาพยุโรปในปี 2021 ท่ามกลางราคาเหล็กที่เเพงเป็นสถิติใหม่เนื่องจากความปั่นป่วนของระบบขนส่งและผลิตสินค้าโลกช่วงโควิด-19 ระบาด

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เหล็กและอะลูมิเนียมราคาถูกลง มาจากการเพิ่มการผลิตสินค้าเหล่านี้

ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ วิลเลียม ฮอค ที่มหาวิทยาลัยเซาธ์คาโรไลนา ที่เชี่ยวชาญเรื่องการค้าระหว่างประเทศกล่าวว่า "มาตรการภาษีสามารถเป็นเเรงจูงใจให้ผู้ผลิตเหล็กและอะลูมิเนียมสหรัฐฯ เพิ่มกำลังการผลิต หรือนำกำลังการผลิตที่ว่างอยู่มาใช้"

เขาเสริมว่า การเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าเหล่านี้ในประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้เวลาเเละเงินทุนในระดับสูง จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่อธิบายว่าราคาไม่ได้ลงมารวดเร็วเมื่อเทียบกับการดีดขึ้นในตอนเเรก

ในขณะเดียวกัน ราคาที่เเพงขึ้นโดยรวมหมายถึงต้นทุนการผลิตของสินค้าที่ใช้เหล็กและอะลูมิเนียมเป็นส่วนประกอบ เช่นในกิจการก่อสร้างและคมนาคม ซึ่งมีส่วนให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมชะลอลงหลังจากที่เกิดมาตรการภาษี

ส่วนผลลัพธ์เรื่องการจ้างงาน มองได้หลายเเง่มุม ตามรายงานของรอยเตอร์

ด้านหนึ่งเกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมผลิตโลหะ จำนวนคนที่ทำงานในโรงงานผลิตเหล็กและอะลูมิเนียมเพิ่มขึ้นในปี 2017 และ 2019 ที่ระดับ 6% และ 5% ตามลำดับ

แต่ในเวลาต่อมา เมื่อมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ต่อเม็กซิโกและเเคนาดาถูกยกเลิกไป และตลาดได้รับผลกระทบจากความต้องการที่ลดลงช่วงการระบาดของโควิด-19 การจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้ไม่ได้เติบโตต่อเนื่องอย่างเช่นในตอนเเรก

การศึกษาโดยระบบธนาคารสหรัฐฯ หรือเฟดเมื่อปี 2019 ชี้ว่าต้นทุนที่สูงขึ้นในการผลิตบางประเทศเนื่องจากมาตรการภาษีปี 2018 ทำให้การจ้างงานในภาคการผลิตลดลง เทียบกับสถานการณ์จำลอง ภายใต้สมมุติฐานว่าไม่มีการใช้มาตรการภาษีและราคาต้นทุนโลหะที่สูงขึ้น

รอยเตอร์รายงานว่ามาตรการภาษีรอบใหม่ของประธานาธิบดีทรัมป์ที่กำลังเกิดขึ้น น่าจะนำมาซึ่งผลลัพธ์คล้ายกับครั้งเเรก แต่หนักหน่วงกว่าเดิมเพราะมาพร้อมกับมาตรการภาษีการค้าอื่น ๆ

ผลการสำรวจความเห็นไม่นานนี้ชี้ว่า ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีมากขึ้น เนื่องจากมาตรการภาษี

อย่างไรก็ตามประธานาธิบดีทรัมป์บอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นเพียงช่วง "เปลี่ยนผ่าน" ของเศรษฐกิจอเมริกัน

รอยเตอร์ปิดท้ายรายงานชิ้นนี้โดยระบุว่า ยังคงต้องรอในอีกหลายเดือนจากนี้ กว่าที่ทราบถึงสิ่งที่จะเกิดจริงกับเศรษฐกิจ

  • ที่มา: รอยเตอร์

กระดานความเห็น

Please enable JavaScript to view the comments powered by Disqus.
Read Entire Article