แพทย์เตือนอย่าประมาท คอยเช็กอาการตัวเอง โดยเฉพาะนิ้วมือ ลักษณะอาการอาจบ่งบอกเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอด หากสงสัยให้รีบพบแพทย์
เว็บไซต์ The Mirror รายงานว่า แม้มะเร็งปอดจะเป็นหนึ่งในโรคที่พบได้บ่อยและร้ายแรงที่สุด แต่หลายคนยังไม่รู้จักสัญญาณและอาการทั้งหมด โดยเฉพาะอาการหนึ่งที่มักถูกละเลย หรืออาการที่พบบ่อย เช่น ไอเรื้อรังหรือไอมีเลือดปน แต่ในระยะแรกมักไม่มีอาการแสดงใด ๆ จนกระทั่งอาการเริ่มปรากฏในภายหลัง
ข้อมูลนี้ถูกหยิบยกขึ้นอีกครั้งหลังเด็บบี้ เนลสัน แม่ของเอมิเน็ม แรปเปอร์ชื่อดัง ซึ่งเธอเสียชีวิตในวัย 69 ปี โดยตัวแทนของแรปเปอร์ชื่อดังได้ยืนยันข่าวนี้กับสื่อสหรัฐฯ โดยระบุว่าเนลสันเคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดมาก่อน
Bill Pugliano / Newsmakers
อาการและสัญญาณของมะเร็งปอดมีอะไรบ้าง?
แม้ไอเรื้อรังหรือไอมีเลือดปนจะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่ามีบางอย่างผิดปกติ แต่อีกอาการหนึ่งที่มักถูกมองข้ามคือ ภาวะนิ้วปุ้ม (clubbing fingers) ซึ่งทำให้นิ้วดูโค้งงอมากขึ้นหรือปลายนิ้วขยายใหญ่ผิดปกติ
อาการที่พบได้น้อยของมะเร็งปอด ได้แก่
- กลืนลำบากหรือเจ็บขณะกลืน
- หายใจมีเสียงหวีด
- เสียงแหบ
- ใบหน้าหรือคอบวม
- เจ็บหน้าอกหรือไหล่เรื้อรัง
อาการหลักของมะเร็งปอด ได้แก่
- ไอที่ไม่หายภายใน 3 สัปดาห์
- ไอเรื้อรังที่แย่ลง
- การติดเชื้อในปอดบ่อยครั้ง
- ไอมีเลือดปน
- เจ็บหรือปวดเมื่อหายใจหรือไอ
- หายใจลำบากเรื้อรัง
- อ่อนเพลียหรือหมดพลังงานเรื้อรัง
- เบื่ออาหารหรือมีน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
ทั้งนี้ สถาบันสุขภาพแห่งชาติอังกฤษเตือนว่า โรคมะเร็งปอดเป็นโรคที่ผู้คนสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นของตนเองได้ หากมีอาการในกลุ่มนี้ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรักษาโดยด่วน
ด้าน องค์กรวิจัยมะเร็งสหราชอาณาจักร ระบุว่า ภาวะนิ้วปุ้ม (finger clubbing) พบได้บ่อยในมะเร็งปอดชนิดเซลล์ที่ไม่เล็ก (non-small cell lung cancer) และอาจมีอาการปวดหรือบวมตามข้อต่อร่วมด้วย ภาวะนี้เรียกว่า hypertrophic pulmonary osteoarthropathy (HPOA)
อาการของ HPOA (Hypertrophic Pulmonary Osteoarthropathy)
ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง อธิบายว่า HPOA มักทำให้เกิดการอักเสบของกระดูกและข้อต่อบริเวณข้อมือและข้อเท้า ซึ่งสามารถตรวจพบได้ผ่านการสแกนกระดูกหรือเอกซเรย์ แต่ในบางกรณี ข้อเท้าและข้อมืออาจบวม อักเสบ เจ็บปวด และเคลื่อนไหวได้ยาก
หนึ่งในอาการที่พบบ่อยที่สุดของ HPOA คือ ภาวะนิ้วปุ้ม (clubbing) ซึ่งมีลักษณะ ดังนี้
- เล็บดูเหมือนลอย ไม่ยึดติดแน่นกับฐานเล็บ
- เล็บทำมุมแหลมขึ้นกับหนังตรงโคนเล็บ
- ส่วนปลายของนิ้วดูใหญ่หรือปูดออก และอาจมีอาการอุ่นหรือแดง
- เล็บโค้งลง คล้ายกับส่วนกลมของช้อนที่คว่ำอยู่
ภาวะนิ้วปุ้ม เป็นอาการที่พบได้ในโรคเกี่ยวกับปอดและหัวใจ โดยเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากสาร VEGF (Vascular Endothelial Growth Factor) ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นการเจริญเติบโตที่ร่างกายผลิตขึ้นเพื่อควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์ การขาดออกซิเจนในเลือดกระตุ้นการผลิต VEGF