หลายชาติสมาชิกหนุน ‘ศาลอาญาระหว่างประเทศ’ หลังทรัมป์ลงนามคว่ำบาตร

1 month ago 64
❤️ ARTICLE AD BOX ❤️

หลายประเทศออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนการทำหองานของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ในวันศุกร์ หนึ่งวันหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรรัฐฯ ประกาศมาตรการลงโทษด้านการเดินทางและทางเศรษฐกิจต่อเจ้าหน้าที่ของศาล ตามการรายงานของรอยเตอร์

แถลงการณ์ร่วม ที่มี 79 ประเทศร่วมลงนาม มีใจความว่า “เรายืนยันในความสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและไม่เสื่อมคลาย ต่อความเป็นอิสระ เที่ยงตรง และซื่อตรงของ ICC”

“ศาล (อาญาระหว่างประเทศ) มีฐานะเป็นเสาหลักของระบบยุติธรรมระหว่างประเทศ ด้วยรับประกันถึงความรับผิดชอบสำหรับอาชญากรรมระหว่างประเทศที่ร้ายแรงที่สุด และความยุติธรรมสำหรับเหยื่อ” แถลงการณ์ระบุ

เมื่อวันพฤหัสบดี ทรัมป์ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหาร มีมาตรการลงโทษด้วยการคว่ำบาตรวีซ่าและเศรษฐกิจ ซึ่งหมายความว่าผู้มีชื่อในบัญชีคว่ำบาตร จะทำให้บุคคลนั้นและครอบครัวไม่สามารถเดินทางเข้าสหรัฐฯ และทรัพย์สินใด ๆ ในสหรัฐฯ จะถูกปิดกั้นการเข้าถึง

ทั้งนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีชื่อของใครบ้างที่จะถูกลงโทษ

79 ประเทศที่ร่วมลงนามนั้นมาจากหลายภูมิภาคทั่วโลก คิดเป็นจำนวนสองในสามของชาติสมาชิก 125 ประเทศที่เป็นภาคีของศาลแห่งนี้ ที่มีพันธะกรณีในการดำเนินคดีอาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการรุกรานชาติอื่น

ทั้งนี้ สหรัฐฯ จีน รัสเซีย รวมถึงอิสราเอล ไม่ได้เป็นสมาชิกของศาล ICC

ฝรั่งเศส เยอรมนี และอังกฤษ คือหนึ่งในกลุ่มที่ลงนามสนับสนุน ส่วนตัวอย่างประเทศที่ไม่ได้จรดปากการ่วมลงนาม ได้แก่ออสเตรเลีย สาธารณรัฐเช็ก ฮังการี และอิตาลี

วิกเตอร์ ออร์บาน นายกฯ ฮังการี ออกมาสนับสนุนทรัมป์ในวันศุกร์ โดยระบุว่า “ถึงเวลาที่ฮังการีจะทบทวนว่าเรากำลังทำอะไรในองค์การระหว่างประเทศที่สหรัฐฯ คว่ำบาตร! กระแสลมใหม่กำลังพัดโบกในการเมืองระหว่างประเทศ เราเรียกว่า ทรัมป์ ทอร์นาโด” ออร์บานระบุในโพสต์บนแพลตฟอร์ม X

ท่าทีของผู้นำฮังการี มีขึ้นในสัปดาห์เดียวกับที่ทรัมป์พบกับนายกฯ อิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู ผู้มีชื่อในหมายจับ ICC สืบเนื่องจากสงครามในกาซ่า

รัฐบาลอิตาลีและเช็กยังไม่มีความเห็นต่อการไม่ลงนามในคำประกาศดังกล่าว

ทางด้านเนเธอร์แลนด์ ที่เป็นที่ตั้งของศาลอาญาระหว่างประเทศ ระบุว่าเสียใจกับมาตรการลงโทษจากรัฐบาลวอชิงตัน และจะยังสนับสนุนการทำงานของ ICC ต่อไป

ดิก ชูฟ นายกฯ เนเธอร์แลนด์กล่าวกับสื่อมวลชนว่ายังไม่ทราบผลกระทบที่ชัดเจน แต่มาตรการจากสหรัฐฯ อาจทำให้การทำงานของศาล “ยากลำบากมาก และอาจเป็นไปไม่ได้เลยในบางประเด็น”

“เราจะทำทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อให้แน่ใจว่าศาลสามารถทำหน้าที่ได้” นายกฯ เนเธอร์แลนด์กล่าว และเพิ่มเติมด้วยว่ายังไม่ได้พูดคุยกับทรัมป์เรื่องการลงโทษดังกล่าว

โอลาฟ โชลซ์ ผู้นำเยอรมนี และเหล่าผู้นำชาติสหภาพยุโรป (อียู) กล่าวว่าการคว่ำบาตรเป็นเครื่องมือที่ผิด และ “บ่อนทำลายสถาบันที่มีหน้าที่รับประกันว่าเผด็จการบนโลกนี้ไม่สามารถข่มเหงประชาชนและก่อสงครามซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก”

ICC ประณามคำสั่งจากทรัมป์ และระบุว่าจะยืนหยัดเคียงข้างเจ้าหน้าที่ของตน และจะเดินหน้าอำนวยความหวังและความยุติธรรมให้กับเหยื่อความทารุณทั่วโลกต่อไป

แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวกับรอยเตอร์โดยไม่ประสงค์ออกนามว่า เจ้าหน้าที่ศาลได้ประชุมกันในกรุงเฮกเมื่อวันศุกร์ เพื่อหารือถึงผลในทางปฏิบัติจากการคว่ำบาตรดังกล่าว

ย้อนไปเมื่อปี 2020 รัฐบาลทรัมป์ในเวลานั้นประกาศลงโทษอัยการฟาตู เบนซูดา และผู้ช่วยอีกหนึ่งคน สืบเนื่องจากงานสืบสวนอาชญากรรมสงครามของทหารสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน

  • ที่มา:รอยเตอร์

กระดานความเห็น

Please enable JavaScript to view the comments powered by Disqus.
Read Entire Article