หุ่นยนต์เสริมไอพ่น ‘บินกู้ภัย’ ช่วยชีวิตในสถานการณ์เข้าถึงยาก

1 month ago 18
❤️ ARTICLE AD BOX ❤️

ทีมนักวิจัยที่สถาบันเทคโนโลยีอิตาลีกำลังเร่งพัฒนาความสามารถของหุ่นยนต์ประดิษฐ์เพื่อให้ทำหน้าที่กู้ชีพในแบบที่ไม่เคยทำได้มาก่อน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มนุษย์ไม่สามารถรับมือได้เอง

นักวิจัยกลุ่มหนึ่งกำลังเดินหน้าพัฒนาหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ (Humanoid) ซึ่งก็คือหุ่นยนต์ที่มีรูปร่างและการเคลื่อนไหวคล้ายมนุษย์ พร้อมเป้าหมายที่จะดัดแปลงเทคโนโลยีนี้ให้มีศักยภาพสูงขึ้นด้วยการติดตั้ง “ไอพ่น” เพื่อให้หุ่นยนต์สามารถบินได้ โดยผู้ศึกษาตั้งความหวังว่า หุ่นยนต์นั้นจะถูกไปปรับใช้เพื่อประโยชน์ด้านการกู้ภัยสาธารณะต่าง ๆ ในอนาคต

ทีมงานผู้พัฒนาหุ่นยนต์ iRonCub
ทีมงานผู้พัฒนาหุ่นยนต์ iRonCub

การปฏิวัติเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองภัยพิบัติดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นโดยทีมวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งอิตาลี (Italian Institute of Technology - IIT) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้สร้างหุ่นยนต์ที่ชื่อว่า ไอคับ (iCub) และจำหน่ายไปให้แก่ทีมวิจัยอื่น ๆ ทั่วโลกมาแล้ว

หลังจากนั้น ทีมได้ตัดสินใจยกระดับโมเดลเดิม โดยการเสริมส่วนที่ทำหน้าที่คล้าย เจ็ตแพ็ก (Jetpack) หรืออุปกรณ์สะพายหลังที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ระบบเทอร์ไบน์ ซึ่งติดตั้งไปยังตำแหน่งที่ไหล่และแขนทั้งสองข้าง ทำให้หุ่นสามารถบินได้ราวกับชุดเกราะของไอรอนแมน (Ironman) ซุปเปอร์ฮีโรจากค่ายมาร์เวล (Marvel) และหลังการติดตั้งไอพ่น หุ่นยนต์นี้ก้ได้รับชื่อใหม่ว่า ไอรอนคับ (IRonCub)

ดานิเอเล ปุชชี่ หัวหน้าฝ่ายปัญญาประดิษฐ์และกลศาสตร์อัจฉริยะ จากสถาบัน IIT
ดานิเอเล ปุชชี่ หัวหน้าฝ่ายปัญญาประดิษฐ์และกลศาสตร์อัจฉริยะ จากสถาบัน IIT

ดานิเอเล ปุชชี่ หัวหน้าฝ่ายปัญญาประดิษฐ์และกลศาสตร์อัจฉริยะ จากสถาบัน IIT อธิบายว่า ต้องมีการปรับแต่งส่วนล่างของหุ่นยนต์ใหม่ทั้งหมดเพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานของ Jetpack ที่ปล่อยไอพ่นอุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียสที่ระดับความเร็วเหนือเสียง โดยความร้อนที่พ่นออกมาจะทำลายและหลอมทุกอย่างสิ่งได้จึงทำให้ทีมงาน “ต้องสร้างระบบป้องกันพิเศษขึ้นมา”

วัตถุประสงค์หลักในการสร้างให้ iRonCub เป็นหุ่นยนต์บินได้ก็เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีที่เสร็จสมบูรณ์ไปใช้ปฏิบัติภารกิจค้นหาและกู้ภัยในสถานที่ที่อันตรายเกินไปสำหรับมนุษย์ หรืออาจเป็นภารกิจที่ยากจะเข้าถึง

ภาพแสดงการทำงานของหุ่น iRonCub บนจอคอมพิวเตอร์
ภาพแสดงการทำงานของหุ่น iRonCub บนจอคอมพิวเตอร์

ปุชชี กล่าวว่า ในสถานที่เข้าถึงลำบาก การบินคือทางออก เพราะสามารถหลบเลี่ยงสิ่งกีดขวาง ลงจอด ตรวจสอบพื้นที่ และค้นหาผู้รอดชีวิต และเมื่อปฏิบัติภารกิจเสร็จสิ้นในจุดหนึ่ง หุ่นยนต์ก็สามารถบินขึ้นและเดินทางไปค้นหาผู้รอดชีวิตในจุดต่อไปได้

ทีมวิจัยเผยว่า หุ่นยนต์ต้นแบบนั้นอยู่ในช่วงการพัฒนาและยังคงมีการศึกษาวิธีควบคุมการบินให้คงที่ การบินขึ้น ลงจอด รวมถึงความเสถียรช่วงเปลี่ยนผ่านคำสั่งสถานะต่าง ๆ

ทีมวิจัยหวังว่า การพัฒนานวัตกรรมและข้อมูลที่รวบรวมได้จากการศึกษานี้ จะปูทางไปสู่การปฏิวัติความสามารถของหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ เพื่อขยายขอบเขตการใช้งาน ที่จะนำไปสู่ปลายทางของการใช้หุ่นยนต์เพื่อการกู้ภัยและช่วยชีวิตมนุษย์ในที่สุด

  • ที่มา: รอยเตอร์

กระดานความเห็น

Please enable JavaScript to view the comments powered by Disqus.
Read Entire Article