องค์กรสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่า แรงงานต่างด้าวในประเทศไทยกำลังเผชิญการแสดงความเห็นเชิงเกลียดชังและข้อมูลเท็จในโลกออนไลน์เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา ตามรายงานของสื่อ เรดิโอ ฟรี เอเชีย (RFA) ที่อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงาน USAGM เช่นเดียวกับวีโอเอ
ปัจจุบัน มีแรงงานต่างด้าวหลายล้านคนจากเมียนมา กัมพูชาและลาว ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ถือเป็นส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมหลายอย่างตั้งแต่การก่อสร้าง การเกษตร การผลิต ไปจนถึงภาคบริการ
อย่างไรก็ตาม พวกเขากำลังเผชิญกระแสความหวาดกลัวชาวต่างชาติสืบเนื่องจากข้อมูลเท็จทางอินเทอร์เน็ต นำไปสู่การถูกกีดกันและเลือกปฏิบัติในชีวิตจริง ยังไม่นับรวมปัญหาสภาพแวดล้อมย่ำแย่ในที่ทำงาน อัตราค่าแรงต่ำ และการไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย อ้างอิงจากองค์กรทางสังคมหลายแห่ง
คอรีเยาะ มานุแช ทนายความและผู้ประสานงานของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) กล่าวกับเรดิโอ ฟรี เอเชีย ว่า "เราเริ่มเห็นคนไทยบางกลุ่มที่แสดงความเห็นโจมตีแรงงานต่างด้าว" โดยเฉพาะทางสื่อสังคมออนไลน์ ติ๊กตอก (TikTok)
คอรีเยาะ ระบุว่า มีความเห็นเชิงเกลียดชังและข้อมูลเท็จผุดขึ้นอย่างรวดเร็วทางติ๊กตอก ซึ่งเธอได้ติดต่อไปยังผู้แทนของสื่อสังคมออนไลน์นี้เพื่อสอบถามถึงประเด็นดังกล่าวแล้ว พร้อมชี้ว่า กลุ่มอนุรักษ์นิยมบางกลุ่มในไทยใช้ประเด็นความเกลียดชังคนต่างด้าวนี้เพื่อลดทอนเสยีงสนับสนุนที่มีต่อพรรคการเมืองหัวก้าวหน้าซึ่งมีนโยบายเปิดรับคนต่างด้าวมากกว่า
ด้านอ่อง จอว์ แห่งมูลนิธิสิทธิแรงงาน (Labor Rights Foundation) เผยว่า กระแสที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ได้ส่งผลร้ายต่อแรงงานต่างด้าวในไทย เช่น แรงงานชาวเมียนมาในจังหวัดสมุทรสาครตกเป็นเป้าของการถูกตรวจสอบเอกสารคนเข้าเมืองโดยกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ออนไลน์หรือกลุ่มชาตินิยมสุดโต่ง
อ่อง จอว์ บอกด้วยว่า บางครั้งอินฟลูเอนเซอร์เหล่านั้นใช้วิธีแจ้งเจ้าหน้าที่ให้บุกค้นโรงงานที่มีการจ้างคนลักลอบเข้าเมือง ทำให้มีผู้ถูกจับและถูกส่งกลับประเทศจำนวนมาก
ปัจจุบัน คาดว่ามีแรงงานชาวเมียนมาในไทยราว 7 ล้านคน และมีพลเมืองเมียนมาเดินทางเข้าไทยเดือนละประมาณ 22,000 คน อ้างอิงจากข้อมูลการสำรวจขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration :IOM)
ช่วงไม่กี่ปีมานี้ เกิดความกังวลในหมู่คนไทยที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมและชาตินิยมเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของแรงงานต่างด้าวในไทย และมีการวาดภาพคนต่างด้าวเหล่านั้นว่าเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของไทย ตลอดจนเป็นอันตรายต่อภาคเศรษฐกิจและการจ้างงานแรงงานไทย
ผลการสำรวจความเห็นประชาชนในกรุงเทพฯ และจัวหวัดตาก เมื่อไม่นานนี้ ชี้ให้เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่มองแรงงานต่างด้าว ดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีเอกสาร ว่าเป็นคู่แข่งด้านการจ้างงานและทรัพยากรต่าง ๆ ของไทย
ขณะเดียวกัน องค์กรสิทธิมนุษยชนบางแห่งพยายามรณรงค์ให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่าปักใจเชื่อข้อมูลที่เห็นในโลกออนไลน์ และระมัดระวังเรื่องการใช้คำพูดหรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่อ่อนไหว รวมทั้งเรื่องแรงงานต่างด้าว
รศ. ดร. นันทิยา ดวงภุมเมศ ประธานศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อ กล่าวกับเรดิโอ ฟรี เอเชีย ว่า การเลือกใช้คำพูดในสื่อออนไลน์ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งการจะแก้ปัญหาความเกลียดชังในโลกออนไลน์นี้ได้ต้องอาศัยการให้ความรู้อย่างกว้างขวางตั้งแต่ระดับบุคคลไปถึงระดับสังคม
- ที่มา: เรดิโอ ฟรี เอเชีย
กระดานความเห็น