อังกฤษ ฝรั่งเศสและยูเครน ตกลงที่จะเดินหน้าร่วมกันทำแผนหยุดยิงเพื่อนำเสนอให้กับสหรัฐฯ ตามการเปิดเผยของนายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ ในวันอาทิตย์ ก่อนที่จะเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปเพื่อหารือหนทางยุติสงครามในยูเครนที่เกิดขึ้นจากการรุกรานของรัสเซีย
ความสำคัญการประชุมสุดยอดดังกล่าวถูกบดบังด้วยกระแสข่าวจากทำเนียบขาวที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นเสียงตวาดใส่ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ว่า ไม่แสดงความรู้สึกขอบคุณต่อการสนับสนุนของสหรัฐฯ ที่ช่วยยูเครนในการสู้รบกับการรุกรานจากรัสเซีย
แต่นายกฯ สตาร์เมอร์ยืนยันว่า สิ่งที่เป็นจุดประสงค์หลักของการหารือนี้คือการแสดงตนของประเทศต่าง ๆ ในฐานะสะพานเชื่อมเพื่อให้เกิดการเจรจาสันติภาพขึ้น และว่าจะใช้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้เป็นโอกาสในการดึงปธน.ทรัมป์ ปธน.เซเลนสกี และประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาคร็อง แห่งฝรั่งเศสเข้ามาร่วมนั่งคุยกันอีกครั้ง มากกว่าจะ “โหมกระพือวาทกรรมต่าง ๆ”
สตาร์เมอร์กล่าวว่า อังกฤษ ฝรั่งเศสและยูเครนจะนำเสนอแผนหยุดยิงให้สหรัฐฯ ที่เริ่มการพูดคุยในฐานะตัวกลางการเจรจาข้อตกลงสันติภาพ โดยระบุว่า “เพื่อผดุงไว้ซึ่งสันติภาพในทวีปของเรา และเพื่อให้ทุกอย่างประสบความสำเร็จ ความพยายามเหล่านี้ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งจากสหรัฐฯ
ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า ทั้งสตาร์เมอร์และมาคร็องต่างได้คุยกับทรัมป์แล้วเมื่อวันศุกร์
การประชุมที่กรุงลอนดอนนั้นเป็นการหารือที่มีความสำคัญอย่างมากในประเด็นการหาทางปกป้องยูเครนที่เป็นประเทศพันธมิตรและตกอยู่ในภาวะสงครามมากว่า 3 ปี และเอพีรายงานว่า นายกฯ อังกฤษ กล่าวในวันอาทิตย์ว่า ขณะนี้ ยุโรปกำลังยืนอยู่ที่ทางแพร่งของประวัติศาสตร์และต้องรับบทหนักในการปกป้องตนเอง
สตาร์เมอร์ยังประกาศว่าจะใช้งบราว 2,000 ล้านดอลลาร์เพื่อส่งขีปนาวุธสำหรับการป้องกันการโจมตีทางอากาศมจำนวน 5,000 ลูกให้กับยูเครน
อย่างไรก็ดี นายกฯ อังกฤษกล่าวว่า การที่ตนเรียกร้องให้พันธมิตรประเทศยุโรปอื่น ๆ เพิ่มงบประมาณด้านอาวุธเพื่อป้องกันตนเองและยูเครนนั้นไม่ใช่สัญญาณที่จะบอกว่า สหรัฐฯ ได้กลายมาเป็นพันธมิตรที่พึ่งไม่ได้เสียแล้ว
นายกฯ สตาร์เมอร์กล่าวว่า ตนไม่เชื่อใจในประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินเลย แต่ยังมั่นใจในตัวทรัมป์อยู่ โดยกล่าวว่า “ผมเชื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ หรือไม่ เมื่อเขาบอกว่า เขาต้องการสันติภาพอันยืนยาว คำตอบก็คือ เชื่อครับ”
นายกฯ อังกฤษกล่าวด้วยว่า หากจะมีการทำข้อตกลงใด ๆ ขึ้น ก็ต้องมีการหยุดการสู้รบและต้องมีการทำให้ข้อตกลงนั้นมีผลบังคับใช้ตลอดไป เพราะ “สิ่งที่เลวร้ายที่สุด(จากผลการทำข้อตกลง)ก็คือ มีการหยุด(รบ)ชั่วคราว แล้ว [ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์] ปูติน ก็กลับมา(เปิดฉากทำสงคราม) อีกรอบ”
การประชุมสุดยอดที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพในวันอาทิตย์มีผู้นำจากทั่วยุโรปมาร่วม ตั้งแต่ฝรั่งเศส ไปถึงเยอรมนี เดนมาร์ก อิตาลี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์ สเปน แคนาดา ฟินแลนด์ สวีเดน สาธารณรัฐเช็ก และโรมาเนีย รวมทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี เลขาธิการองค์การนาโต้ และประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและคณะมนตรียุโรป
ทั้งนี้ เซเลนสกีได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากผู้นำทั่วยุโรป หลังเกิดกรณีการปะทะกันที่ทำเนียบขาวซึ่งแสดงให้เห็นเหตุการณ์ที่สหรัฐฯเล่นงานพันธมิตรของตนต่อหน้าผู้ชมทางโทรทัศน์ที่ไม่ได้เป็นเรื่องปกติสักเท่าใด
เมื่อเซเลนสกีเดินทางถึงอังกฤษในวันเสาร์ นายกฯ สตาร์เมอร์สวมกอดต้อนรับผู้นำยูเครน และกล่าวว่า เสียงเชียร์ที่กึกก้องไปตามถนนนั้นแสดงให้เห็นว่า ผู้คนในอังกฤษสนับสนุนเซเลนสกีอย่างเต็มที่ และว่า “เรายืนเคียงข้างคุณ เคียงข้างยูเครน ตราบนานเท่านาน”
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลยุโรปต่างรู้สึกไม่สบายใจกับการที่ทรัมป์ต่อสายตรงคุยข้อตกลงสันติภาพกับปูตินที่ถูกผู้นำโลกตะวันตกส่วนใหญ่โดดเดี่ยวตั้งแต่มอสโกส่งกองทัพรุกรานยูเครนเมื่อกว่า 3 ปีก่อน ขณะที่ สถานการณ์เริ่มตึงเครียดขึ้นเมื่อทรัมป์เรียกเซเลนสกีว่าเป็น “เผด็จการ” และกล่าวอย่างผิด ๆ ว่า ยูเครนเป็นผู้เริ่มสงครามครั้งนี้ก่อน
- ที่มา: เอพี
กระดานความเห็น