ประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียน แนะรัฐบาลทหารเมียนมาเมื่อวันอาทิตย์ ว่าไม่ควรมองว่าแผนการจัดการเลือกตั้งสำคัญกว่าสถานการณ์สงครามกลางเมืองในประเทศ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมาเริ่มต้นการเจรจากับฝ่ายคู่ขัดแย้งและยุติความรุนแรงในประเทศโดยทันที
โมฮัมหมัด ฮาซาน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย กล่าวในฐานะที่มาเลเซียจะเป็นประธานหมุนเวียนอาเซียนในปีนี้ว่า ประชาคมอาเซียน ได้เรียกร้องทุกฝ่ายที่มีข้อพิพาทในเมียนมายุติการสู้รบและได้กล่าวกับตัวแทนของรัฐบาลทหารเมียนมาในโอกาสนี้ด้วยว่า ให้เปิดทางความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปในพื้นที่
ฮาซาน กล่าวในการแถลงข่าวการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่เกาะลังกาวีเมื่อวันอาทิตย์ว่า “มาเลเซียต้องการทราบว่าเมียนมาคิดอย่างไร” และว่า “เราได้บอกกับพวกเขา(ตัวแทนเมียนมา)ว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ความจำเป็นเร่งด่วนตอนนี้คือการยุติการสู้รบ”
เมียนมาตกอยู่ในความวุ่นวายมาตั้งแต่ต้นปี 2021 เมื่อกองทัพก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง นำไปสู่การประท้วงของกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตย ความขัดแย้งในเมียนมาขยายวงกว้างไปจนถึงระดับที่กลุ่มแข็งข้อต่อต้านและกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยหันปลายกระบอกปืนมาสู้รบกับกองทัพและเข้ายึดเมืองต่าง ๆ ในประเทศ
ระหว่างที่การสู้รบยังเกิดขึ้นบริเวณแนวหน้าหลายพิกัด เศรษฐกิจเมียนมาตกต่ำ และพรรคการเมืองในประเทศถูกแบนลงสนาม รัฐบาลทหารเมียนมากลับปักหมุดจัดการเลือกตั้งในปีนี้ ซึ่งผู้วิจารณ์ต่างมองว่าเป็นการจัดฉากเพื่อให้กองทัพยังคงอยู่ในอำนาจต่อไป
ในการประชุมเมื่อวันอาทิตย์ มาเลเซียประกาศการแต่งตั้ง โอธมัน ฮาชิม เป็นทูตพิเศษด้านวิกฤตเมียนมา ที่มีแผนเดินทางเยือนเมียนมา “เร็ว ๆ นี้” หลังจากที่สหประชาชาติระบุว่าสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในพื้นที่อยู่ในระดับที่ “น่าตกใจ” เพราะประชาชนเกือบ 20 ล้านคน หรือกว่า 1 ใน 3 ของประชากรในเมียนมาต้องการความช่วยเหลือ
ทูตพิเศษด้านวิกฤตเมียนมาของมาเลเซียมีภารกิจในการเจรจาให้ทุกฝ่ายในเมียนมา ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ ซึ่งยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้
นอกเหนือจากประเด็นเมียนมาแล้ว มาเลเซีย ยังหยิบยกความก้าวร้าวของจีนในทะเลจีนใต้ขึ้นมาหารือเมื่อวันอาทิตย์ด้วย จากที่เมื่อปีที่แล้ว สมาชิกอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์เผชิญหน้ากับจีนบริเวณน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาทมาหลายต่อหลายครั้ง
เวียดนามและมาเลเซีย ยังออกมาประท้วงเกี่ยวกับการที่เรือจีนเดินเรือบริเวณเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งระบุว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมายในน่านน้ำของตน
ทั้งนี้ จีนอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ส่วนใหญ่ในทะเลจีนใต้ ที่มีมูลค่าการค้าทางทะเล 3 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ขณะที่อาเซียนและจีนได้ร่างกฎระเบียบในทะเลจีนใต้ร่วมกัน แต่ยังไม่ได้มีความคืบหน้าใด ๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ในแง่ของกรอบการบังคับใช้และผลกระทบต่อประเทศที่ 3
- ที่มา: รอยเตอร์
กระดานความเห็น