เกษตรกรสหรัฐฯ หวัง ‘ทรัมป์’ เลือกรมต.หนุนการค้า-ผลักดันกม.ฟาร์มฉบับใหม่

6 days ago 3
❤️ ARTICLE AD BOX ❤️

เกษตรกรสหรัฐฯ คาดหวังให้ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ซึ่งว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เลือกสรรมา จะเข้าใจถึงข้อกังวลของพวกเขา ระหว่างที่ผลักดันกฎหมายด้านการเกษตรและนโยบายการค้าที่เกี่ยวข้อง

สตีฟ ไนติงเกล เกษตรกรจากเขตปกครองเฮนรี เคาน์ตี รัฐอิลลินอยส์ และชุมชนเกษตรกรหลายร้อยคน รวมตัวกันที่งานประชุมประจำปีของสำนักงานเกษตรรัฐอิลลินอยส์ ที่นครชิคาโก เพื่อหารือหนทางข้างหน้าบนความไม่แน่นอนเกี่ยวับนโยบายด้านการค้าของสหรัฐฯ

ไนติงเกล กล่าวกับวีโอเอว่า “ตอนนี้เศรษฐกิจการเกษตรไม่ค่อยดีนัก” และว่าความเป็นไปได้ที่จะมีมาตรการกีดกันทางภาษี ทำให้เป็นเรื่องที่น่ากังวลอยู่บ้าง

ข้อมูลคาดการณ์จากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ในปี 2024 ชี้ว่า เกษตรกรทั่วอเมริกาสูญเสียรายได้สุทธิเกือบ 1 ใน 4 เมื่อเทียบกับช่วงที่รายได้เฟื่องฟูในปี 2022 ขณะที่ราคาปัจจัยการผลิตอย่างปุ๋ยปรับพุ่งสูงเกือบทำสถิติใหม่

ไนติงเกลเริ่มกังวลว่าความวุ่นวายทางเศรษฐกิจอาจมากขึ้นกว่าที่เป็นหากโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เน้นย้ำถึงกำแพงภาษีกับประเทศหุ้นส่วนการค้าของสหรัฐฯ กลายเป็นนโยบายขึ้นมาจริง ๆ

ไนติงเกล กล่าวว่า “เมื่อประเทศอื่น ๆ ตอบโต้เราบ้าง พวกเขาจะเข้ามาเล่นงานสิ่งที่เป็นรายได้สำคัญของเรา นั่นคือ ภาคการเกษตร”

ในฐานะผู้อำนวยการสำนักเกษตรกรของเขตปกครองเฮนรี เคาน์ตี ไนติงเกล หวังว่าผู้ที่ว่าที่ปธน.ทรัมป์เลือกมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ บรู๊ค โรลลินส์ จะเข้าใจถึงความกังวลเกี่ยวกับมาตรการภาษี และความสำคัญของการผ่านร่างกฎหมายปรับปรุงภาคการเกษตร หรือ Farm Bill ฉบับใหม่ ที่มาทดแทนกฎหมาย Agriculture Improvement Act ฉบับเดิมที่หมดอายุไปเมื่อต้นปีนี้

ตัวเลือกว่าที่รมว.เกษตรสหรัฐฯ สร้างความประหลาดใจให้กับ เดวิด ไอเซอร์แมนน์ จากสำนักเกษตรกรของเขตปกครองลาเซลล์ เคาน์ตี กล่าวกับวีโอเอว่า “เราแปลกใจมากเพราะชื่อของเธอ(โรลลินส์)ไม่เคยอยู่ในลิสต์ใด ๆ ที่เราเห็นมาเลย”

ไอเซอร์แมนน์ มีฟาร์มนอกเมืองสตรีทเทอร์ เขตปกครองลาเซลล์ เคาน์ตี รัฐอิลลินอยส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตข้าวโพดและถั่วเหลืองอันดับต้น ๆ ของอเมริกา

ไอเซอร์แมนน์ กล่าวด้วยว่า “เธอ(โรลลินส์)ไม่ได้ประวัติการทำงานที่รัฐมนตรี(กระทรวงเกษตร)คนอื่น ๆ มีกัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเธอจะเป็นตัวเลือกที่ไม่ดี เราแค่ต้องจับตาดูเท่านั้น”

บรู๊ค โรลลินส์ เคยดำรงตำแหน่งในคณะทำงานของทรัมป์ชุดก่อน ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการสภาที่ปรึกษาด้านนโยบายภายในประเทศทำเนียบขาว จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Texas A&M ด้านการจัดการการเกษตร

ไอเซอร์แมนน์ เสริมว่า “เธอมีประวัติการศึกษา[ด้านการเกษตร] และหวังว่าเธอจะเข้ามาอย่างเปิดใจและสนับสนุนเกษตรกร และเธอกล่าวว่าเธอจะทำเช่นนั้น”

อีกด้านหนึ่ง ผู้อำนวยการสำนักเกษตรกรของเขตปกครองลาเซลล์ เคาน์ตี พยายามที่จะเปิดใจให้กว้างเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายของสหรัฐฯ เช่นกัน

ไอเซอร์แมนน์ กล่าวว่า “จนกว่าประธานาธิบดีคนใหม่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ เราจะไม่ทราบเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่เราได้เห็นมาว่าเขา(ทรัมป์)ได้หารือกับแคนาดา และดูเหมือนว่า(การหารือ)นั้นจะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์”

แต่ในมุมมองของ แดน มิลเลอร์ ซีอีโอของบริษัทการเงินด้านการเกษตร Steward CEO กล่าวกับวีโอเอผ่านสไกป์ว่า “ผมไม่อยากได้โมเดลการเกษตรที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานของนโยบายของรัฐบาล”

มิลเลอร์ กล่าวว่า มาตรการภาษีอาจกระตุ้นให้เกิดความหลากหลายในแง่ที่เป็นแหล่งปลูกและจำหน่ายผลผลิตการเกษตรของชาวอเมริกัน ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากการพึ่งพาการส่งออกข้าวโพดและถั่วเหลืองไปจนถึงการเพิ่มผลผลิตการเกษตรอื่น ๆ

ซีอีโอของ Steward CEO อธิบายว่า เกษตรกรอเมริกันมีโมเดลการเกษตรที่สร้างบนนโยบายและการสนับสนุนของรัฐบาล แม้ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ที่มิลเลอร์ร่วมงานด้วยเลือกที่จะไม่ใช้โมเดลเหล่านั้น แต่หลายคนต้องติดอยู่ในระบบดังกล่าว เพราะผลผลิตที่ได้สามารถนำไปขายได้ทันที

มิลเลอร์ เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านการผลิตภาคการเกษตรของสหรัฐฯ ที่ใช้เวลานาน ต้นทุนสูง และซับซ้อน ซึ่งจำเป็นต้องมีระบบโครงสร้างพื้นฐานใหม่ขึ้นมาในปัจจุบัน และหวังว่าประเด็นด้านภาษีและนโยบายการเกษตรของสหรัฐฯ จะเอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ได้

ในมุมมองของเกษตรกรในสหรัฐฯ อย่างไนติงเกล จากสำนักเกษตรกรของเขตปกครองเฮนรี เคาน์ตี กล่าวย้ำว่า “เราแค่ต้องการตลาดเสรีเท่านั้น”

ระหว่างที่ไนติงเกลต้องการลูกค้ารายใหม่สำหรับข้าวโพดและถั่วเหลือง ไอเซอร์แมนน์ ต้องการความชัดเจนแน่นอนด้านนโยบายการค้าและการเกษตรของประเทศมากกว่า โดยกล่าวว่า “เราถูกใช้เป็นหมากตัวหนึ่ง ภาคการเกษตรเป็นแค่หมากตัวหนึ่ง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ผมกังวล”

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

Please enable JavaScript to view the comments powered by Disqus.
Read Entire Article