เข้าห้องน้ำสาธารณะ สกปรกแค่ไหนก็อย่านั่งท่านี้! เสี่ยงอันตรายคาดไม่ถึง เตือน 4 สิ่งที่น่ากลัวกว่าฝารองชักโครก
เมื่อถึงคราวต้องเข้าห้องน้ำในที่สาธารณะ หลายคนอาจรู้สึกรังเกียจจนเลือก “นั่งยองๆ” บนชักโครก ในลักษณะก้นลอยเหมือนท่าสควอช ไม่ยอมให้ตัวเองสัมผัสกับฝารองที่ดูสกปรก แต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าพฤติกรรมนี้อาจก่ออันตรายมากกว่าที่คิด
ดร. พริมโรส ฟรีสโตน (Dr. Primrose Freestone) นักจุลชีววิทยาคลินิกจากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ เปิดเผยผ่านเว็บไซต์ The Conversation ว่าคุณควร “นั่งลงเต็มที่” บนโถส้วมทุกครั้ง แม้ที่นั่งจะดูไม่สะอาดก็ตาม เพราะการนั่งยองๆ นั้นอาจก่อให้เกิดทั้ง “การบาดเจ็บ” และ “เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ”
ทำไมการนั่งยองๆ ถึงเป็นอันตราย?
ขณะนั่งยอง กล้ามเนื้อหลายส่วนในร่างกาย เช่น กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน กล้ามเนื้อสะโพก หน้าท้อง และหลัง จะตึงตัวเพื่อพยุงร่างกายไม่ให้ล้ม ท่าทางนี้จะทำให้ปัสสาวะออกได้ไม่สะดวก ซึ่งส่งผลให้ปัสสาวะไม่หมด และต้องเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น
ในบางกรณี หากปัสสาวะค้างบ่อยครั้ง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ
ไบรแอนน์ โกรแกน นักกายภาพบำบัดสุขภาพสตรี อธิบายว่า “ความตึงของกล้ามเนื้อรอบอุ้งเชิงกรานจะทำให้ปัสสาวะไหลยาก ต้องออกแรงเบ่ง และการเบ่งบ่อยๆ ก็อาจนำไปสู่ภาวะอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน (pelvic organ prolapse)” โดยเฉพาะในผู้หญิงที่ผ่านการตั้งครรภ์หรือคลอดบุตรมาแล้ว
กลัวติดเชื้อจากฝารองนั่ง
ดร. พริมโรส ยืนยันว่า ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากการที่ “ก้นสัมผัสกับฝารองนั่ง” นั้นต่ำมาก เพราะการติดเชื้อส่วนใหญ่มักเกิดจาก “การใช้มือสัมผัสเชื้อแล้วนำเข้าสู่ปาก” เช่น จากการปนเปื้อนของมือ อาหาร หรือพื้นผิวที่ไม่สะอาด
ผิวหนังของมนุษย์ยังมีแบคทีเรียตามธรรมชาติที่ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันอีกชั้นหนึ่ง
สิ่งที่ควรระวังจริงๆ ไม่ใช่ชักโครก
สิ่งที่น่ากังวลกว่าการนั่งโถส้วมคือ ละอองฝอย ที่กระเด็นจากโถเมื่อล้าง ซึ่งสามารถพาแบคทีเรีย เช่น E. coli และ Pseudomonas ลอยไปไกลถึง 1.5 เมตร และปนเปื้อนบนทุกสิ่ง เช่น
-
ที่จับประตู
-
ฝารองนั่ง
-
ที่วางกระดาษชำระ
-
หรือแม้แต่ “โทรศัพท์มือถือ” ของคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับ 75% ของคนที่ใช้โทรศัพท์ในห้องน้ำ แนะนำให้ทำความสะอาดโทรศัพท์เป็นประจำด้วยแอลกอฮอล์ 70% หรือสบู่อ่อนผสมน้ำ
คำแนะนำสำคัญ
-
ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังใช้ห้องน้ำ
-
พยายามไม่สัมผัสก๊อกน้ำหรือขวดสบู่โดยตรงหลังล้าง
-
ให้ใช้กระดาษเช็ดมือปิดน้ำแทน
ดร. พริมโรสแนะนำว่า “หลังล้างมือ ควรปล่อยน้ำไหลไว้ขณะเช็ดมือให้แห้ง แล้วใช้กระดาษที่สะอาดปิดน้ำแทนที่จะใช้มือเปล่า”