เก็บ "ก้อนหินประหลาด" แข็งสุดๆ ไว้นานเป็นปี นึกว่าเป็นทองคำ พอส่งไปตรวจสอบ ผลที่ได้อึ้งตาแตก มีค่ายิ่งกว่าทองคำ
เดวิด โฮล ชายชาวออสเตรเลีย พบก้อนหินสีแดงเข้ม หนักผิดปกติ และแข็งมากในสวนสาธารณะ ด้วยความเชื่อว่ามีทองคำอยู่ภายใน เขาจึงนำกลับบ้านไปตรวจสอบ แต่เมื่อส่งให้พิพิธภัณฑ์วิเคราะห์ กลับพบว่าสิ่งนี้มีค่ามากกว่าทองคำเสียอีก เพราะมันคืออุกกาบาตที่มีอายุถึง 4,600 ล้านปี
เดวิด โฮล ชื่นชอบการใช้เครื่องตรวจจับโลหะค้นหาสมบัติ ในปี 2015 เขาได้พบก้อนหินก้อนนี้ในสวนสาธารณะเขตแมรีโบโรห์ ใกล้เมืองเมลเบิร์น ก้อนหินหนักถึง 40 ปอนด์ (ประมาณ 18 กิโลกรัม) และมีความหนาแน่นสูงผิดปกติ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นแหล่งขุดทองคำ และเคยเกิดกระแสตื่นทองในศตวรรษที่ 19 เขาจึงมั่นใจว่าตัวเอง "เจอทองคำเข้าแล้ว"
เมื่อกลับถึงบ้าน เดฟพยายามจะผ่าก้อนหินนี้ออก แต่ไม่ว่าจะใช้เลื่อยตัดหิน เครื่องเจียร สว่าน ค้อนเหล็ก หรือแม้แต่แช่ในสารละลายกรด หินก้อนนี้ก็ยังคงไม่เป็นรอยแม้แต่นิดเดียว ทำให้เขาอดอุทานไม่ได้ว่า "นี่มันอะไรกันแน่?"
จนกระทั่งเขานำหินก้อนนี้ไปตรวจสอบที่พิพิธภัณฑ์เมลเบิร์น และพบว่ามันไม่ใช่สิ่งที่มาจากโลก แต่เป็นอุกกาบาตที่มีอายุถึง 4,600 ล้านปี
เดอร์มอต เฮนรี นักธรณีวิทยาจากพิพิธภัณฑ์เมลเบิร์น เปิดเผยกับ The Sydney Morning Herald ว่า "สิ่งที่คุณเห็นตรงนี้คือหลักฐานการกำเนิดของระบบสุริยะ"
เขาสันนิษฐานว่าอุกกาบาตก้อนนี้ "น่าจะมาจากแถบดาวเคราะห์น้อยระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัส ซึ่งถูกผลักออกมาจากการชนกันของดาวเคราะห์น้อย และวันหนึ่งก็พุ่งชนโลก" โดยคาดว่ามันเดินทางมาถึงโลกเมื่อไม่เกิน 200 ปีก่อนหน้านี้
เฮนรีระบุว่า อุกกาบาตก้อนนี้จัดอยู่ในประเภท "H5 Chondrite" หรืออุกกาบาตชนิดหินที่พบได้ทั่วไป หลังจากพุ่งทะลุชั้นบรรยากาศโลก มันได้เกิดรอยบุ๋มลึกคล้ายถูกแกะสลักตามธรรมชาติ ปัจจุบัน อุกกาบาตก้อนนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า "อุกกาบาตแมรีโบโรห์" (Maryborough meteorite) ตามสถานที่ที่ถูกค้นพบ
เดวิด โฮล ดีใจอย่างมากกับผลลัพธ์นี้ โดยกล่าวว่า “ผมแค่ลองเสี่ยงดูเท่านั้นเอง โอกาสแบบนี้มีแค่หนึ่งในหนึ่งร้อยล้าน หรืออาจจะน้อยกว่านั้น หนึ่งในล้านล้านเสียอีก โอกาสโดนฟ้าผ่า 2 ครั้งยังมีมากกว่านี้อีก”