ในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทุกคนให้คำมั่นในการเข้ามาบริหารจัดการรัฐบาลกลางเมื่อเข้ารับตำแหน่งในทำเนียบขาว แต่ในกรณีของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีวิถีทางในการยกเครื่องรัฐบาลกลางของตัวเอง และดูเหมือนว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ คนที่ 47 นี้จะให้ความสนใจในการกดดันให้หน่วยงานรัฐยอมรับมากกว่าปรับปรุงโครงสร้าง
ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สะท้อนความต้องการในการเปลี่ยนแปลงการบริหารของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ผ่านการจัดตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในคณะทำงานชุดใหม่ ที่เป็นบุคคลที่ไม่เชื่อถือและไม่ชื่นชอบหน่วยงานรัฐที่เข้าไปดูแล ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกันกับหน่วยงานรัฐบาลกลางต่าง ๆ ก่อนจะเข้าบริหารประเทศ
ดั๊ก บริงค์ลีย์ นักประวัติศาสตร์เกี่ยวกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้ทัศนะกับเอพีว่า แนวทางของทรัมป์เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน และว่า “เรากำลังพูดถึงการรื้อระบบบริหารรัฐบาลกลาง”
วิถียกเครื่องรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ยุคทรัมป์ 2.0 จะเริ่มเห็นความชัดเจนขึ้นในสัปดาห์นี้ เมื่อแคช พาเทล ผู้ที่ทรัมป์เสนอชื่อให้นั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการสำนักงานสืบสวนกลางสหรัฐฯ หรือ เอฟบีไอ เข้าประชุมนัดแรกกับเหล่าวุฒิสมาชิกที่จะรับรองเขาให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวที่กรุงวอชิงตัน
พาเทล อดีตเจ้าหน้าที่ความมั่นคงและผู้ภักดีต่อทรัมป์ วางจุดขายของตนว่าเป็นมือขวาของทรัมป์ ได้กล่าวถึงการปิดสำนักงานใหญ่ของเอฟบีไอ เข้าสลายบทบาทหน้าที่ขององค์กรด้านความมั่นคง และมุ่งจัดการศัตรูผู้เห็นต่างของทรัมป์
เกรก โบรวเวอร์ อดีตอัยการรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ที่ดูแลสำนักงานกิจการรัฐสภาของเอฟบีไอ บอกกับเอพีว่า ทรัมป์ดูเหมือนจะต้องการตัดบทบาทของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการทางการเมืองเมื่อกลับสู่ทำเนียบขาวอีกครั้ง และ “เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่แน่ใจว่าเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภาจะสนับสนุนหรือไม่”
อีกด้านหนึ่งวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกัน กำลังพิจารณาว่าจะสนับสนุนพีท เฮกเซธ ผู้ที่ทรัมป์เสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ หรือไม่ ท่ามกลางกระแสข้อกล่าวหาเรื่องการกระทำผิดทางเพศ พฤติกรรมการดื่มหนัก และการบริหารจัดการเงินที่ไม่เหมาะสม
เฮกเซธ นักจัดรายการช่องข่าวฟ็อกซ์นิวส์ วัย 44 ปีรายนี้ เรียกกองทัพว่าเต็มไปด้วยแนวคิด 'โว้ค' (woke) ที่มักเป็นคำเรียกเชิงตำหนิต่อแนวคิดด้านความหลากหลายทางสังคมของฝ่ายเสรีนิยม และต้องการให้ผู้หญิงออกจากบทบาทในภารกิจการรบของกองทัพสหรัฐฯ
แคโรไลน์ ลีวิตต์ โฆษกของทีมเปลี่ยนผ่านอำนาจของทรัมป์ และผู้ที่จะดำรงตำแหน่งโฆษกทำเนียบขาวคนใหม่ในยุคทรัมป์ 2.0 กล่าวว่า คณะทำงานชุดใหม่ต้องการ “ทำลายล้างรัฐซ้อนรัฐ” (Deep State) ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกเจ้าหน้าที่รัฐที่ทรัมป์และพันธมิตรมองว่าเป็นศัตรู โดยกล่าวในแถลงการณ์ว่า “ประธานาธิบดีทรัมป์ได้รับเลือกเข้ามาอีกครั้งโดยอาณัติสัญญาอันกึกก้องจากชาวอเมริกันให้เข้ามาเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่ในวอชิงตัน .. นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาถึงเลือกคนนอกที่ยอดเยี่ยมและได้รับการยอมรับในระดับสูงให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในคณะทำงานของเขา และเขาจะเดินหน้าสนับสนุนพวกเขาในการต่อสู้กับพวกที่พยายามบ่อนทำลายวาระของ MAGA”
มาร์กาเร็ต สเปลลิง อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของสหรัฐฯ ในยุคประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช กล่าวกับเอพีว่า “อาจไม่ใช่สไตล์การบริหารที่ดีนัก” ในการปฏิบัติกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลเหมือนเป็นศัตรู “หากคุณต้องการจะเปลี่ยนทิศทางการกุมบังเหียนประเทศ คุณต้องการความช่วยเหลือในการเปลี่ยนแปลง .. และนั่นคือคนที่ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานเหล่านั้น”
หากทรัมป์ทำตามแนวทางของตน กระทรวงศึกษาธิการอาจเป็นเป้าหมายแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากลินดา เเมคแมน (Linda McMahon) ผู้ที่ทรัมป์เสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งไม่มีประสบการณ์ในกระทรวงนี้มาก่อน เ
เมคแมน เคยเป็นผู้บริหารหน่วยงานรัฐเพื่อช่วยธุรกิจขนาดเล็ก Small Business Administration ภายใต้รัฐบาลทรัมป์สมัยเเรก และเธอเป็นที่รู้จักในบทบาทผู้บริหาร World Wrestling Entertainment
แผนการของทรัมป์สำหรับหน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ที่ผสมผสานแนวคิดอนุรักษ์นิยม ซึ่งมองว่ารัฐบาลกลางคุกคามชีวิตของชาวอเมริกันโดยทั่วไป พ่วงด้วยวาระส่วนตัวของตน จากที่ทรัมป์ถูกสืบสวนและตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงดำรงตำแหน่งผู้นำสมัยแรก
แม้ว่าตัวเลือกของทรัมป์บางรายสร้างความกังวลให้กับนักการเมืองฝั่งตรงข้าม แต่แนวทางของทรัมป์อาจดูน่าพอใจสำหรับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่มีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลดิ่งเหวลงเป็นประวัติการณ์ในช่วงไม่กี่ปีมานี้
โดยการสำรวจจาก Pew Research Center พบว่า มีเพียง 2 ใน 10 ของชาวอเมริกันในการสำรวจที่เชื่อมั่นในรัฐบาลอเมริกันว่าทำสิ่งที่ถูกต้องอยู่เสมอ ลดลงจาก 4 ใน 10 ของชาวอเมริกันที่เชื่อมั่นเช่นนั้นในการสำรวจเมื่อปี 2000 ซึ่งเป็นช่วงก่อนวิกฤตการเงิน การก่อการร้าย และการระบาดใหญ่
เคย์ ชลอสแมน อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์จาก Boston College กล่าวกับเอพีว่า ผู้ที่ทรัมป์เสนอชื่อมานั้นอาจถูกมองว่าเป็น “ส่วนเสริมศักยภาพในการตั้งคำถามกับคำแนะนำที่ได้รับและตั้งคำถามต่อชนชั้นนำทางการเมืองที่เป็นฝ่ายดำเนินการทุกอย่างไปเสียหมด”
บุคคลที่ทรัมป์เลือกสรรมาบางราย ได้สะท้อนถึงช่องว่างระหว่างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านกับประเด็นส่วนตัว ซึ่งเห็นได้ชัดจากการเสนอชื่อโรเบิร์ต เอฟ. เคเนดี จูเนียร์ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและบริการประชาชน แม้ว่าจะเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในการเผยแพร่ทฤษฎีหรือแนวต่อต้านวัคซีนก็ตาม และการเสนอชื่อนายแพทย์เจย์ ปัตตะชาเรีย นักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขที่เคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงต่อนโยบายล็อกดาวน์และการฉีดวัคซีนในช่วงเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ให้มาดูแลสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (National Institutes of Health)
ในภาคส่วนอื่น ๆ ของรัฐบาล ผู้ภักดีต่อทรัมป์ยังได้รับรางวัลตอบแทนเหนือบทบาทความเชี่ยวชาญ อย่างลี เซลดิน อดีตสส.นิวยอร์ก ซึ่งไม่เคยนั่งเก้าอี้กรรมาธิการใด ๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในรัฐสภาสหรัฐฯ ได้รับเลือกให้ดูแลสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม Environmental Protection Agency หรือ EPA
เรื่องนี้ไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับ บริงค์ลีย์ นักประวัติศาสตร์เกี่ยวกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มองว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประธานาธิบดีพยายามเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารประเทศ เพราะอดีตปธน.ริชาร์ด นิกสัน เคยพยายามรวบอำนาจการตัดสินใจของรัฐบาลกลางมาไว้ที่ทำเนียบขาว และอดีตปธน.วอร์เรน ฮาร์ดิง ได้แต่งตั้งบรรดาผู้นำภาคธุรกิจให้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีเกือบทั้งชุดมาแล้ว
แต่บริงค์ลีย์ มองว่าแนวทางของทรัมป์ดูอันตรายกว่า และดูเหมือนจะจัดตั้งทีมงานให้แข่งขันชิงดีชิงเด่นกันเอง โดยบอกว่า “มันให้ความรู้สึกเหมือนแกลดิเอเตอร์ .. พวกเขาแต่ละคนต้องการแสดงให้เห็นว่าสามารถจัดการรัฐซ้อนรัฐ สื่อเก่าแก่ หรือพรรคเดโมแครตได้”
อีกแนวทางที่ทรัมป์จะใช้กุมทิศทางในวอชิงตัน คือ กระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล (Department of Government Efficiency - DOGE) คณะกรรมาธิการที่ปรึกษาอิสระนำโดยอิลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งเทสลาและสเปซเอ็กซ์ และวิเวก รามาสวามี นักธุรกิจเชื้อสายอินเดีย ซึ่งตั้งเป้าลดการใช้จ่ายภาครัฐอย่างฮวบฮาบและปรับลดปริมาณเจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้งยังแนะนำให้ทรัมป์เลี่ยงการผลักดันวาระต่าง ๆ ในรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้เกิดแรงปะทะทางการเมืองได้
ธีดา สโคโพล อาจารย์จาก Harvard University เห็นด้วยกับมุมมองที่ว่าชาวอเมริกันคลางแคลงใจเกี่ยวกับประสิทธิภาพของรัฐบาลกลาง “แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นหนทางที่ง่ายในการกำจัดกระทรวงหรือโครงสร้างรัฐบาลบางอย่างได้ทั้งหมด เพราะผู้คนจะตระหนักว่าพวกเขามีส่วนได้ส่วนเสียกับภาคส่วนเหล่านั้น”
อย่างไรก็ตาม อาจารย์จาก Harvard University มองว่าการสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของสิ่งนี้ “กลุ่มอนุรักษ์นิยมบางส่วนพยายามทำให้รัฐบาลกลางยุ่งเหยิงเมื่อได้เข้ามากำกับดูและ และจากนั้นจะใช้เป็นข้ออ้างในการลดบทบาทของรัฐบาลกลางลงไป”
- ที่มา: เอพี
กระดานความเห็น