เปิดผลชันสูตร "ผิง ชญาดา" เผยโรคที่เป็นต้นเหตุ ก่อนติดเชื้อในกระแสเลือดเสียชีวิต ไม่เกี่ยวกับการนวด
จากกรณีที่ “ผิง ชญาดา” นักร้องรถแห่ มีอาการชา ไม่รู้สึกตัว จนต้องเข้ารับการรักษาที่ห้อง ICU นานกว่า 10 วัน ก่อนจะเสียชีวิต หลังจากไปนวดบิดคอ
ล่าสุดวันนี้ (9 ธ.ค.67) เวลา 09.00 น. ที่สำนักงานสาธารณสุข จ.อุดรธานี ดร.นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี และนายคงจักร์ บุญทัน ผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 8 ร่วมแถลงข่าวชี้แจง กรณี ผิง ชญาดา นักร้องรถแห่ ได้เสียชีวิตลงที่ รพ.ศูนย์อุดรธานี เมื่อวานนี้ (8 ธ.ค.67) หลังจาก 3 เดือนที่แล้ว ไปนวดลักษณะ “บิดคอ” เมื่อตัวเองกลับมา รู้สึกมีอาการชาก็ไปนวดซ้ำอีก 2 ครั้ง จนสุดท้ายป่วยติดเตียง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
นพ.สมชายโชติ ปิยะวัชร์เวลา สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า การมาแถลงข่าวครั้งนี้เพื่อให้รับข้อมูลตรงกันว่า รัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข ได้ใช้การนวดแผนไทยเป็นซอฟพาวเวอร์อย่างหนึ่ง ในการมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีบางส่วนก็อยู่เหนือการควบคุมของหน่วยงานราชการ โดยมีเป้าหมายสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน โดยให้ทีมงานเดินทางไปเคารพศพ “ผิง ชญาดา“ ที่บ้านพัก และได้พูดคุย ให้กำลังใจญาติ พร้อมกับการให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการรักษาเป็นอย่างไร รวมทั้งแนะนำช่องทางการช่วยเหลือ อาทิ “กองทุนยุติธรรม”
การเดินทางลงพื้นที่พบกับครอบครัว “ผิง ชญาดา” ทราบว่าผิงเริ่มไปนวดครั้งแรก เมื่อ 5 ตุลาคม 2567 โดยอ้างว่าการนวดมีการ “บิดคอ” หรือ “หักคอ” ด้วย หลังจากนวดแล้ว 2 วันก็มีอาการปวดที่ท้ายทอย จนต้องรับประทานยาระงับอาการปวด จากนั้น 1 สัปดาห์ได้กลับไปนวดอีกครั้ง ที่ร้านเดิมกับหมอนวดคนเดิม ต่อมาก็มีอาการปวดมากขึ้น จึงกลับไปร้านนวดร้านเดิมแต่คนนวดใหม่ เมื่ออาการไม่หายก็มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี
สาเหตุเสียชีวิต
และในช่วง 6-11 พฤศจิกายน ผิงได้นอนรักษาตัวอยู่ที่ตึกกระดูกและข้อ แพทย์ตรวจพบแขนขาอ่อนแรง ไม่มีปัญหาเรื่องกระดูกหักที่ต้นคอ จึงได้ปรึกษาแพทย์อายุรกรรมเพื่อเจาะหลัง จนตรวจพบว่าเป็นไขสันหลังอักเสบ จึงทำการรักษาด้วยยา(ฉีด) จากนั้นก็ให้ยาแบบรับประทาน และกลับไปรักษาตัวที่บ้าน
ต่อมา 18 พฤศจิกายน 2567 ญาติมีการปรึกษาเรื่องของอาการ เกร็ง กระตุกของผู้ป่วย จนวันที่ 22 พฤศจิกายน ผู้ป่วยเข้าห้องไอซียู และสุดท้ายเสียชีวิตด้วยอาการการติดเชื้อในกระแสโลหิต อีกทั้งการติดเชื้อรา ซึ่งการติดเชื้อในครั้งนี้ยังระบุสาเหตุไม่ได้ ต้องนำหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาประกอบ
หลังจากนั้น สสจ.อุดรธานี ร่วมกับศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 8 ลงตรวจสอบร้านที่ถูกระบุว่า น้องผิงไปใช้บริการนวด พบว่าได้รับใบอนุญาตสถานประกอบการถูกต้อง มีพนักงานนวด 7 คน สามารถแสดงใบรับการอบรมแบบเป็นการนวดเพื่อสุขภาพ 150 ชั่วโมงได้ 6 คน อีก 1 คน ตรวจสอบผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ระบุว่าคนนี้ผ่านการอบรม 150 ชั่วโมงเช่นเดียวกัน
โรคไขสันหลังอักเสบ
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า จากที่ได้รับรายงานกรณีผู้ป่วย “ผิง ชญาดา” อายุ 20 ปี ไม่มีโรคประจำตัวเดิม โดยวันที่ 5 ต.ค.67 เริ่มมีอาการปวดคอ บ่า ไหล่ และได้ไปนวดร้านหนึ่ง โดยระบุว่า มีการนวดบิดคอ หลังจากนั้นเริ่มปวดท้ายทอย ชาแชน และกลับไปนวดร้านเดิมอีก 2 ครั้ง อาการเริ่มแย่ลง แขนอ่อนแรง
วันที่ 28 ต.ค.67 ไปตรวจที่ รพ.อุดรธานี ครั้งแรกมีอาการมือสั่นใจสั่นคล้ายโรคไทรอยด์ ส่งตรวจเลือดไม่พบโรคไทรอยด์ เลยให้ยาแก้ใจสั่นกลับบ้าน และนัดอีก 1 เดือน วันที่ 6-11 พ.ย.เข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.อุดรธานี ได้แอดมิทแผนกระดูกและข้อ โดยแพทย์ตรวจพบว่า แขนขาอ่อนแรง ตรวจ MRI เพิ่ม พบว่าไม่มีกระดูกคอหัก หรือเคลื่อน ตรวจโดยเจาะน้ำไขสันหลัง
สรุปวินิจฉัยเป็น โรคไขสันหลังอักเสบ ซึ่งได้ให้ยารักษา หลังจากนั้นอาการเริ่มดีขึ้น จึงกลับไปพักที่บ้าน แต่หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ ยังมีอาการเกร็งกระตุกตามร่างกาย ต่อมาวันที่ 22 พ.ย.67 อาการเกร็งและอ่อนแรงมากขึ้น เข้าไอซียู รพ.อุดรธานี มีอาการช็อกจากติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.67
“เหตุที่ทำให้ถกเถียงกันมาเนื่องจากข้อมูล ซึ่งได้มีการเอ็กซเรย์ในครั้งแรก และต่อมาได้ทำ MRI ซึ่งชัดเจนแล้วว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการนวด ผมอยากให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย จึงต้องมีการรวบรวมข้อมูลต่างๆ จนได้ตามที่กล่าวข้างต้น” นายสมศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามว่าจะกระทบต่อนโยบายแพทย์แผนไทย การนวดไทยหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ต้องมั่นใจ เพราะนี่มีผล MRI แล้ว เดิมทีเดียวยังไม่มีการพูดถึง แต่เมื่อมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นสูง ทันสมัยออกมาแล้ว ก็จะทำให้เห็นชัดเจน ส่วนเรื่องการนวดแพทย์แผนไทย ขอให้ประชาชนมั่นใจ เพราะขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข มีการทำแนวทางปฏิบัติ การตรวจคุณภาพต่างๆ รวมถึงเรื่องการนวดไทยด้วย ซึ่งไม่ใช่ว่าทำวันนี้ เราทำมาตั้งนาน ตั้งแต่ตนเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ แล้ว ไม่ใช่ว่าเกิดเรื่องนี้แล้วค่อยมาทำ
ทั้งนี้ ไขสันหลังอักเสบ (Transverse Myelitis) เป็นการอักเสบบริเวณไขสันหลังที่มักจะส่งผลต่อเซลล์ประสาทและปลอกหุ้มใยประสาทที่เรียกว่ามัยอีลิน (Myelin) ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอัมพาต มีปัญหาด้านประสาทสัมผัส กระเพาะปัสสาวะและลำไส้ทำงานผิดปกติ ซึ่งสาเหตุอาจเป็นผลมาจากการติดเชื้อ โรคระบบภูมิคุ้มกัน โรคปลอกประสาท หรือปัญหาสุขภาพบางประการ
โดยทั่วไป ผู้ป่วยไขสันหลังอักเสบ อาจใช้เวลารักษาตัวนานหลายเดือนหรือหลายปี ซึ่งแม้จะเข้ารับการรักษาแล้ว บางรายอาจมีอาการหลงเหลืออยู่บางส่วน ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจพิการหรือไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ และหากผู้ป่วยไขสันหลังอักเสบ มีสาเหตุจากโรคประจำตัวก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้
สาเหตุของโรคไขสันหลังอักเสบ เกิดจากสารมัยอีลินเป็นเนื้อเยื่อไขมันชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายฉนวนไฟฟ้า ทำหน้าที่ช่วยปกป้องใยประสาทและเซลล์ประสาท หากสารมัยอีลินบริเวณไขสันหลังถูกทำลายหรือได้รับความเสียหายอาจส่งผลต่อเซลล์ประสาทจนเกิดการอักเสบได้ ทั้งนี้ทางการแพทย์ยังไม่ทราบต้นตอของการเกิดไขสันหลังอักเสบอย่างแน่ชัด แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีสาเหตุมาจากโรคติดเชื้อ หรือโรคระบบภูมิคุ้มกัน