เผยรอยปริใน 'จี20' ปมส่งความช่วยเหลือให้ยูเครน

1 month ago 16
❤️ ARTICLE AD BOX ❤️

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งในอีกสองเดือน กำลังเร่งผลักดันความช่วยเหลือด้านการเงินและการทหารให้แก่ยูเครนเพื่อต้านทานการรุกรานของรัสเซีย ระหว่างการประชุมสุดยอดกลุ่ม จี20 (G20) ที่นครริโอ เดอ จาเนโร ในบราซิล

บรรดานักการทูตชาติตะวันตกที่เข้าร่วมประชุม พยายามผลักดันให้มีการตำหนิการกระทำของรัสเซีย สืบเนื่องจากปฏิบัติการทางทหารเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ซึ่งเป็นการโจมตียูเครนครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายเดือน

จอน ไฟเนอร์ รองที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว กล่าวกับวีโอเอว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ต้องการให้มีการใช้ "ถ้อยคำที่เข้มแข็งที่สุด" ในส่วนที่เกี่ยวกับยูเครน อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ร่วมของการประชุมมิได้รวมเอาสิ่งที่สหรัฐฯ พยายามผลักดันเข้าไว้ด้วย

ไฟเนอร์ชี้ว่า การหาบทสรุปร่วมกันอย่างเป็นเอกฉันทน์ในการประชุม จี20 นั้นเป็นเรื่องท้าทายยิ่ง เนื่องจากความหลากหลายของประเทศสมาชิกที่มีรัสเซีย จีน และประเทศในซีกโลกใต้ด้วย

แถลงการณ์ร่วมของการประชุม จี20 เน้นย้ำถึงความเจ็บปวดและผลกระทบที่โหดร้ายของสงครามในยูเครนที่มีต่อเศรษฐกิจโลก แต่มิได้มีการประณามรัสเซีย นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้เกิดข้อตกลงหยุดยิงในกาซ่าและเลบานอน การยึดมั่นในแนวทางสองรัฐ แต่ไม่ได้พูดถึงสิทธิในการป้องกันตนเองของอิสราเอล

จีนย้ำความสำคัญของ "ซีกโลกใต้"

ในการประชุม จี20 เมื่อวันจันทร์ ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ประกาศมาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการพัฒนาทั่วโลก โดยเน้นย้ำการสนับสนุนของจีนต่อโครงการพื้นฐานด้านการพัฒนาในประเทศต่าง ๆ ได้แก่โครงการ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" และโครงการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับ "ประเทศซีกโลกใต้" นำโดยจีน บราซิล และแอฟริกาใต้

ปธน.สี กล่าวว่า "จีนสนับสนุนให้กลุ่มจี20 เป็นผู้นำในการสร้างความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ของประเทศซีกโลกใต้" โดยตั้งเป้าว่า จีนจะนำเข้าสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ เพิ่มขึ้นแตะหลัก 8 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว

ทั้งนี้ ซีกโลกใต้ หรือ Global South มักหมายถึงประเทศกำลังพัฒนาตามคำนิยามของสหประชาชาติ และรวมถึงจีนกับประเทศในแถบอ่าวเปอร์เซียด้วย โดยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จีนและรัสเซียได้เพิ่มความพยายามสนับสนุนกลุ่มประเทศเหล่านี้ทั้งทางการเมือง การทหารและเศรษฐกิจ

แก้ปัญหาโลกร้อนและความยากจน

บราซิล ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุม จี20 ปีนี้ พยายามเน้นความสำคัญของการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก และความยากจน นอกเหนือไปจากความขัดแย้งและสงคราม

เมื่อวันจันทร์ ประธานาธิบดีลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา แห่งบราซิล เปิดตัวกลุ่มพันธมิตรระหว่างประเทศเพื่อต่อสู้กับปัญหาความยากจนและผู้หิวโหย โดยกล่าวว่า ผลกระทบอันเลวร้ายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถเห็นได้ทั่วโลก

แต่แหล่งข่าวทางการทูตที่ไม่เปิดเผยชื่อกล่าวกับวีโอเอว่า ผู้เจรจาที่ริโอยังไม่สามารถหาความตกลงร่วมกันในเรื่องการเงินสำหรับการต่อสู้ภาวะโลกร้อนได้ โดยทางชาติตะวันตกต้องการให้จีนและประเทศที่มั่งคั่งในตะวันออกกลางเพิ่มสัดส่วนเงินบริจาคในกองทุนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก แต่ถูกคัดค้านจากประเทศซีกโลกใต้บางประเทศ รวมทั้งบราซิลเองด้วย

ขณะเดียวกัน ปธน.ลูลาของบราซิลเสนอให้เก็บภาษีเพิ่มอีก 2% สำหรับมหาเศรษฐีทั่วโลกเพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนในการแก้ปัญหาความยากจน แต่ก็ต้องเผชิญแรงต้านจากหลายประเทศ รวมทั้งจากประธานาธิบดีอาร์เจนตินา ฮาเวียร์ มิเล ผู้เดินทางไปพบกับว่าที่ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ที่รัฐฟลอริดา เมื่อเร็ว ๆ นี้

โดยในแถลงการณ์ร่วมของกลุ่ม จี20 ในวันอังคาร ระบุว่า บรรดาผู้นำต่างเห็นพ้องในการทำงานเพื่อรับรองว่า กลุ่มบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกจะต้องถูกจัดเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ

  • ที่มา: วีโอเอ
Read Entire Article