เหยื่อคอลเซ็นเตอร์เล่าถึงความยากลำบาก ที่ค่ายใกล้ชายเเดนไทย

1 month ago 19
❤️ ARTICLE AD BOX ❤️

ชาวต่างชาติจำนวนหลายร้อยคนที่ถูกนำตัวออกมาจากที่ตั้งของขบวนการต้มตุ๋นในเมียนมา ระหว่างการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ กำลังใช้ชีวิตที่ค่ายของกลุ่มติดอาวุธที่ห่างไกล โดยมีอาหารและการดูเเลสุขภาพจำกัด และต้องใช้ห้องนำ้ที่สกปรก ตามรายงานของรอยเตอร์ที่พูดคุยกับผู้ที่ถูกกักตัวไว้สองราย

คนจำนวนหนึ่งจากทั้งหมด 470 รายไม่สามารถกลับประเทศของตนได้ง่าย ๆ หลังจากถูกนำตัวมาอยู่ที่ค่ายดังกล่าว ซึ่งอยู่ตามเเนวชายแดนไทย-เมียนมา สถานที่นี้อยู่ภายใต้การดูเเลของกลุ่มติดอาวุธดีเคบีเอ หรือ Democratic Karen Benevolent Army

แหล่งข่าวสองรายของรอยเตอร์ที่เป็นชาวแอฟริกัน และไม่ต้องการเปิดเผยชื่อเพราะความกังวลเรื่องความปลอดภัย กล่าวว่าสภาพความเป็นอยู่ที่ค่ายดังกล่าวย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จากจีน ไทยเเละเมียนมา พยายามที่จะทลายศูนย์คอลเซ็นเตอร์ และการกระทำผิดออนไลน์บริเวณตามแนวชายเเดน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่คนหลายเเสนคนตกเป็นเหยื่อแก๊งเหล่านี้ ตามข้อมูลของสหประชาชาติ

ชายวัย 29 ปีจากประเทศในตอนกลางของแอฟริกา ซึ่งถูกนำตัวมาอยู่ที่ค่ายของดีเคบีเอ เมื่อวันที่ 15 ก.พ. กล่าวผ่านโทรศัพท์ว่า "เราทานข้าวเเทบไม่ถึงสองครั้งต่อวัน"

"ผู้หญิงไม่มีผ้าอนามัยใช้ เรามีห้องน้ำใช้อย่างมากห้าห้อง สำหรับคนประมาณ 500 คน" เขากล่าว

แหล่งข่าว ที่ถูกควบคุมตัววัย 39 ปี จากแอฟริกาตะวันออกกล่าวหาดีเคบีเอว่าไม่ให้การดูเเลที่ดี โดยระบุว่า "เราอยู่กันอย่างเหมือนเป็นสัตว์"

อย่างไรก็ตาม ซอว์ ซาน ออง เจ้าหน้าที่ของกลุ่มติดอาวุธนี้ บอกกับรอยเตอร์ว่ากลุ่มของเขาพยายามที่จะช่วยคนเหล่านี้ และตั้งใจอย่างยิ่งที่จะให้พวกเขามีอาหารรับประทานสองมื้อต่อวัน

เขากล่าวว่า "มันอาจจะจริงที่พวกเขามีห้องน้ำใช้ไม่พอ....มีคนเยอะมากเเละเราพยายามทำดีที่สุด"

สถานที่ปฏิบัติการของกลุ่มมิจฉาชีพดำเนินการมาเเล้วหลายปี แต่เพิ่งถูกทลายลงโดยความร่วมมือหลายประเทศ หลังจากที่เมื่อเดือนมกราคมดาราจีนรายหนึ่งถูกลักพาตัวไปจากประเทศไทย และได้รับการช่วยเหลือให้ออกมาจากเมืองเมียวดีทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมา

ตั้งเเต่นั้นเป็นต้นมา คนจำนวนมากซึ่งรวมถึงเหยื่อการค้ามนุษย์ ได้รับอิสรภาพจากเมียวดี และเดินทางโดยเครื่องบินกลับประเทศต้นทางไปแล้ว

ทั้งนี้ยังมีคนราว 7,000 คนที่ถูกนำตัวออกจากศูนย์สแกม แต่ตอนนี้ไม่ทราบว่าจะอนาคตจะเป็นเช่นใด ซึ่งรวมถึงคนที่อยู่ในค่ายของดีเคบีเอ

ตั้งเเต่เหยื่อกลุ่มเเรกที่ถูกปล่อยตัวจากศูนย์คอลเซ็นเตอร์ ข้ามชายเเดนมายังไทยในเดือนกุมภาพันธ์ ทางการไทยอนุญาตเฉพาะผู้ที่ประเทศต้นทางของพวกเขาเตรียมการเพื่อการรับกลับ เท่านั้นให้สามารถเข้ามาในไทยได้

กระทรวงการต่างประเทศของไทยกล่าวเมื่อวันศุกร์ว่าจะช่วยให้สถานทูตประเทศต่าง ๆ สามารถยืนยันสัญชาติของประชาชนของตนที่อยู่ในเมียนมา

แหล่งข่าวจากแอฟริกาตะวันออกของรอยเตอร์กล่าวว่าเขาเเละคนอื่น ๆ ไม่มีเงินที่จะจ่ายค่าตัวเครื่องบินกลับประเทศเองได้

เขากล่าวถึงช่วงเวลาที่ต้องอยู่ที่ศูนย์สแกมว่า "ผมอยู่ในป่าเกือบสามเดือน....ผมไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากโลกภายนอก"

  • ที่มา: รอยเตอร์

กระดานความเห็น

Please enable JavaScript to view the comments powered by Disqus.
Read Entire Article