พาลูกป่วยไปหาหมอ แต่แพทย์จากหลายสาขา 17 คน วินิจฉัยโรคไม่ได้ แม่หันไปพึ่ง ChatGPT ถึงได้รู้ลูกป่วยเป็นอะไรกันแน่
หลังจากที่พาลูกชายไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญถึง 17 คนแต่ไม่มีใครวินิจฉัยโรคได้ แม่คนหนึ่งตัดสินใจขอความช่วยเหลือจาก ChatGPT เพื่อวินิจฉัยอาการของลูกชาย และไม่คาดคิดว่าเธอจะพบสาเหตุที่แท้จริง
นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 เด็กชายอเล็กซ์ วัย 4 ขวบ จากสหรัฐฯ เริ่มแสดงอาการผิดปกติหลายอย่าง เช่น ปวดฟัน พัฒนาการล่าช้า และมีปัญหาในการทรงตัว แม่ของเขา คือคุณคอร์ตนีย์ รู้สึกกังวลอย่างมาก จึงพาลูกไปพบแพทย์ถึง 17 คนจากหลายสาขา แต่ก็ไม่มีใครสามารถบอกได้แน่ชัดว่าอเล็กซ์ป่วยเป็นอะไร
เมื่อเวลาผ่านไป อาการของอเล็กซ์ก็แย่ลงเรื่อยๆ จนคุณแม่อย่างคอร์ตนีย์ รู้สึกหมดหวัง เธอจึงตัดสินใจหันไปใช้ ChatGPT โดยระบุรายละเอียดอาการของลูกชายและแนบผลตรวจต่างๆ อย่างครบถ้วน
ไม่นาน ChatGPT วิเคราะห์ออกมาว่า อเล็กซ์อาจป่วยเป็น “กลุ่มอาการไขสันหลังถูกดึงรั้ง” (Tethered Cord Syndrome) ซึ่งเป็นภาวะที่ไขสันหลังเคลื่อนไหวได้จำกัดเนื่องจากมีส่วนที่ยึดติดกับกระดูกสันหลัง กรณีที่พบในเด็กเล็กอย่างอเล็กซ์นั้นถือว่าเกิดขึ้นไม่บ่อย
เมื่อได้รับข้อมูลสำคัญนี้ คอร์ตนีย์จึงเข้าร่วมกลุ่มผู้ปกครองในโซเชียลมีเดียที่มีลูกแสดงอาการคล้ายกัน และพบผู้ปกครองคนอื่นที่เคยเผชิญเหตุการณ์แบบเดียวกัน
ในที่สุด แพทย์ศัลยกรรมระบบประสาทรายหนึ่งได้ตรวจเอกสารทั้งหมดและยืนยันว่าการวินิจฉัยของ ChatGPT นั้น “ถูกต้องโดยสมบูรณ์” คอร์ตนีย์ดีใจมากที่ในที่สุดก็รู้ว่าลูกป่วยเป็นอะไร และรีบนำลูกเข้ารับการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ซึ่งตอนนี้อเล็กซ์อยู่ระหว่างพักฟื้น
เรื่องราวของครอบครัวคอร์ตนีย์กลายเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจอย่างมากบนโลกออนไลน์ หลายคนรู้สึกประทับใจกับความแม่นยำของ ChatGPT ที่แม้แพทย์จำนวนมากจะพยายามอย่างเต็มที่ แต่ยังไม่สามารถระบุโรคได้อย่างแน่ชัด ในขณะที่ AI อย่าง ChatGPT ซึ่งผ่านการฝึกด้วยข้อมูลจำนวนมหาศาล กลับสามารถให้คำตอบที่นำไปสู่การรักษาชีวิตของเด็กวัย 4 ขวบได้
ชาวเน็ตต่างชื่นชมความพยายามของคุณแม่ และศักยภาพของปัญญาประดิษฐ์ในการช่วยชีวิตมนุษย์ กรณีของคอร์ตนีย์ยังจุดประกายการถกเถียงในระดับโลกเกี่ยวกับบทบาทของ AI ในวงการแพทย์ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ก็เตือนว่า แม้ AI อย่าง ChatGPT จะมีศักยภาพสูง แต่ก็ไม่สามารถแทนที่แพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญได้ “AI สามารถใช้เป็นเครื่องมือประกอบการวินิจฉัยได้ แต่ก็อาจมีข้อผิดพลาดได้เช่นกัน เพราะบางครั้งอาจตีความสิ่งที่คนไข้สื่อสารผิดไป และให้ผลลัพธ์ที่ไม่ถูกต้อง” นักประสาทวิทยารายหนึ่งกล่าว