‘แพทองธาร’ โชว์สปีชบนเวที ‘ฟอร์บส์’ ย้ำไทยพร้อมรับลงทุนต่างชาติ

1 month ago 9
❤️ ARTICLE AD BOX ❤️

นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ใช้เวลาช่วงเที่ยงวันพฤหัสบดีตามเวลาท้องถิ่น แสดงวิสัยทัศน์ต่อหน้านักธุรกิจและนักลงทุนชั้นนำหลายร้อยคนในการประชุมซีอีโอระดับโลก เพื่อส่งข้อความว่า ถึงเวลาที่จะมาลงทุนที่เมืองไทยแล้ว

ในงาน Forbes Global CEO Conference ครั้งที่ 22 ที่กรุงเทพฯ แพทองธารนั่งพูดคุยแบบตัวต่อตัวกับมอยรา ฟอร์บส์ รองประธานบริหาร Forbes Media โดยมีประเด็นซักถามเกี่ยวกับทิศทางด้านเศรษฐกิจและโอกาสทางการลงทุนในไทยในปัจจุบันและอนาคต

เวทีที่จัดขึ้นระหว่าง 20 - 21 พฤศจิกายน มีแขกรับเชิญอื่นที่มาแสดงวิสัยทัศน์อีกราว 50 คน เช่นศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เครือเจริญโภคภัณฑ์ เจนนี จอห์นสัน ซีอีโอบริษัทบริหารการลงทุนระดับโลก Franklin Templeton รวมถึงอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร

เธอระบุว่า ในช่วงหนึ่งปีของรัฐบาลเพื่อไทย ตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน สามารถเชิญชวนบริษัทใหญ่ ๆ มาลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ เช่นการสร้างระบบศูนย์ข้อมูล หรือ data center ในไทยจากกูเกิล แอมะซอนและไมโครซอฟต์ และรัฐบาลนี้ก็จะเดินหน้ามองหาการลงทุนให้มากยิ่งขึ้น

แพทองธารกล่าวเป็นภาษาอังกฤษ ใจความว่า “เมื่อใดที่ดิฉัiนมีโอกาสพูดคุยกับซีอีโอ หรือคนที่สนใจในการลงทุน ดิฉันบอกพวกเขาว่ารัฐบาลสนับสนุนการลงทุนอย่างเต็มที่”

บลูมเบิร์กอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ระบุว่า มูลค่าข้อเสนอการลงทุนในไทยในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ 723,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในรอบเกือบสิบปี

ข้อมูลจากทางการระบุว่าบริษัท Nvidia ผู้ผลิตชิประดับโลกมีกำหนดการเปิดเผยแผนการลงทุนในไทยในเดือนธันวาคม และหลายบริษัทเทคโนโลยี เช่น Seagate Technology Holding และ Western Digital Corp ก็มีแผนเพิ่มการลงทุนในไทยด้วยเช่นกัน

 Royal Thai Government)
บรรยากาศการพูดคุยของแพทองธารและฟอร์บส์ ที่เวที Forbes Global CEO Conference (ที่มา: Royal Thai Government)

แพทองธารระบุว่าขณะนี้เป็นเวลาที่ควรมาลงทุนที่ไทย เพราะเป็นช่วงเวลาที่การเมืองไทยมีสเถียรภาพมากขึ้น ความพร้อมด้านอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร รวมถึงตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไทยที่ทั้งอยู่ตรงกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอยู่ไม่ไกลจากจีน

แพทองธารกล่าวว่า “ดิฉันคิดว่าตอนนี้ไทยมีความพร้อม พร้อมในแง่เทคโนโลยี พร้อมในด้านเสถียรภาพของรัฐบาล”

แพทองธารกล่าวว่า รัฐบาลเตรียมปรับนโยบายเพื่อสนับสนุนภาคการส่งออก เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายการค้าของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่มูลค่าการส่งออกของไทยคิดเป็นสัดส่วน 10% ของจีดีพี และจะต้องปรับตัวกับนโยบายของรัฐบาลทรัมป์เพื่อขยายการส่งออกกับสหรัฐฯ ในอนาคต

ในการหาเสียงที่ผ่านมา ทรัมป์ใช้นโยบายตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีนหลายครั้ง ซึ่งยังต้องจับตามองกันต่อไปว่า เมื่อขึ้นดำรงตำแหน่งแล้วจะเดินหน้าทำตามสิ่งที่หาเสียงเอาไว้มากน้อยเพียงใด

การปรากฏตัวบนเวทีของนายกฯ ไทยครั้งนี้มีขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ขยายตัว 3% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่สอง และคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2568 จะขยายตัวในปีหน้าที่ 2.3-3.3% อ้างอิงตามรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เมื่อ 18 พฤศจิกายน

ในด้านการเมือง รัฐบาลแพทองธารยังต้องเผชิญบททดสอบเรื่องเสถียรภาพรัฐบาล จากการถูกร้องเรียนในขั้นองค์กรอิสระอย่างน้อย 20 กรณี ที่มีมูลเหตุตั้งแต่เรื่องการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง บทบาทของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรกับพรรคเพื่อไทย ไปจนถึงเรื่องยิบย่อยอย่างการทำท่ามินิฮาร์ทถ่ายภาพหมู่หน้าทำเนียบรัฐบาล

ในวันที่ 22 พฤศจิกายน ศาลรัฐธรรมนูญมีนัดประชุมว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องของธีรยุทธ สุวรรณเกษร ที่ผู้ขอให้วินิจฉัยว่าทักษิณและพรรคเพื่อไทยใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เคยนำไปสู่การยุบพรรคก้าวไกลในช่วงกลางปี 2567

เวทีประชุมซีอีโอของฟอร์บส์ครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนโดยธุรกิจใหญ่ของไทยและต่างชาติ เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ ธนาคารกรุงเทพ รวมถึงแอมะซอน เว็บ เซอร์วิส และเฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ อ้างอิงตามเอกสารของผู้จัดสำหรับสื่อมวลชน

  • ที่มา: ทำเนียบรัฐบาล, บลูมเบิร์ก, สภาพัฒน์

กระดานความเห็น

Please enable JavaScript to view the comments powered by Disqus.
Read Entire Article