ไทยตกอันดับในดัชนีรับรู้การทุจริต ที่วัดความโปร่งใสของภาครัฐทั่วโลก ในปี 2024 ที่ผ่านมา ในผลสำรวจเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านปัญหาคอร์รัปชันจากหน่วยงาน Transparency International ขณะที่ประเทศในการสำรวจทั่วโลกแทบไม่มีความคืบหน้าในการต่อต้านการทุจริตต่อเนื่องเป็นปีที่ 12 แล้ว
รายงาน Corruption Perceptions Index หรือ CPI ประจำปี 2024 ของหน่วยงาน Transparency International ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร พบว่าค่าเฉลี่ย CPI ของ 180 ประเทศทั่วโลกในการสำรวจยังอยู่ที่ระดับ 43 ไม่เปลี่ยนแปลงมาเป็นเวลา 12 ปีแล้ว แม้ว่าจะมี 32 ประเทศที่มีระดับการทุจริตลดลง แต่พบว่ามี 47 ประเทศมีคะแนนที่ตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่ทำการสำรวจมาเมื่อปี 2012
เดนมาร์ก ยังครองอันดับ 1 ไม่เปลี่ยนแปลง ที่ 90 คะแนน ตามมาด้วยฟินแลนด์ 88 คะแนน สิงคโปร์ 84 คะแนน นิวซีแลนด์ร่วงมาที่อันดับ 4 ที่ 83 คะแนน ส่วนซูดานใต้รั้งท้ายที่ 8 คะแนน
สำหรับสหรัฐฯ ร่วงมาจากอันดับ 24 ไปอยู่ที่ 28 ได้ไป 65 คะแนน ส่วนไทยได้คะแนน 34 คะแนน และร่วงมาอยู่ในอันดับ 107 ของโลก ซึ่งถือว่าได้คะแนนต่ำสุดนับตั้งแต่การจัดทำการสำรวจนี้เมื่อปี 12 ปีที่แล้ว จากที่ผ่านมาไทยมีกรอบคะแนนที่ 35-38 คะแนนมาโดยตลอด
ในครั้งนี้ Transparency International กล่าวถึงความเสี่ยงด้านคอร์รัปชันที่กระทบความพยายามในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน ว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงในการจัดสรรงบประมาณในด้านนี้อย่างไม่ถูกต้อง และขัดขวางการดำเนินนโยบายแก้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติ
ฟรองซัวส์ วาเลเรียน ประธานหน่วยงาน Transparency International ระบุในรายงานว่า “การคอร์รัปชันเป็นภัยคุกคามที่ยกระดับขึ้นและสร้างผลเสียมากกว่าบั่นทอนการพัฒนา เพราะเป็นกุญแจสำคัญในการทำลายประชาธิปไตย สร้างความไร้เสถียรภาพ และละเมิดสิทธิมนุษยชน” และว่าประชาคมโลกต้องเร่งแก้ปัญหานี้เป็นวาระเร่งด่วน
รายงาน Corruption Perceptions Index หรือ CPI ของหน่วยงาน Transparency International จัดอันดับประเทศและดินแดนต่างๆ 180 แห่งทั่วโลกจากระดับความรู้สึกเกี่ยวกับหรือการมองปัญหาการทุจริตในภาครัฐของแต่ละประเทศโดยอาศัยข้อมูลจากแหล่งภายนอก 13 แหล่ง อาทิ ธนาคารโลก บริษัทที่ปรึกษาและประเมินความเสี่ยง และจากหน่วยงานคลังสมอง
โดยการให้คะแนนในเรื่องนี้ตั้งแต่ 0 ซึ่งหมายถึงมีปัญหาคอร์รัปชั่นในระดับสูงไปจนถึงคะแนน 100 ซึ่งสะท้อนถึงความใสสะอาดในการทำงานของระบบการบริหารภาครัฐ และคะแนนดังกล่าวก็เป็นเครื่องสะท้อนความเห็นของผู้เชี่ยวชาญรวมทั้งจากผู้ประกอบธุรกิจด้วย
- ที่มา: เอพี, Transparency International
กระดานความเห็น